Chat
x
toggle menu
toggle menu

Select Groups

All Group
  • All Group
  • นโยบายเเละมาตรการพิเศษในการส่งเสริม
  • การขอรับการส่งเสริมการลงทุน
  • การออกบัตรส่งเสริม
  • การเปิดดำเนินการ
  • การเเก้ไขโครงการ
  • การดำเนินการอื่น ๆ
  • การรายงานความคืบหน้าโครงการ (e-Monitoring)
  • การปฏิบัติหลังการได้รับการส่งเสริม
  • การยกเลิกบัตรส่งเสริม
  • เรื่องทั่วไป
  • การใช้สิทธิด้านที่ดิน
  • การใช้สิทธิด้านเครื่องจักร
  • การใช้สิทธิด้านช่างฝีมือ/ต่างด้าว
  • การใช้สิทธิด้านวัตถุดิบ
  • ประเภทกิจการ - การแพทย์
  • การใช้สิทธิด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล
  • ประเภทกิจการ - รถยนต์ไฟฟ้า
  • ประเภทกิจการ - ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC) IPO และ TISO
  • ประเภทกิจการ - โรงแรม
  • ประเภทกิจการ - ผลิตผลิตภัณฑ์โลหะรวมทั้งชิ้นส่วนโลหะ
  • ประเภทกิจการ - กิจการผลิตเครื่่องจักร อุุปกรณ์และชิ้นส่วน
  • ประเภทกิจการ - กิจการศูนย์กระจายสินค้าระหว่า ประเทศด้วยระบบที่่ทันสมัย (IDC)
ขอขยายเวลานำเข้าวัตถุดิบ บริษัทมีกิจการที่ไดรับการส่งเสริม จำนวน 2 โครงการ ผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน และบริษัทมีการรวมบัญชีปริมาณสต็อกฯ ของทั้ง 2 โครงการเข้าด้วยกัน คือ โครงการที่ 1 > มีระยะเวลานำเข้าวัตถุดิบ ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2562 ถึง 27 กันยายน 2564 โครงการที่ 2 > มีระยะเวลานำเข้าวัตถุดิบ ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2562 ถึง 17 มิถุนายน 2563 * เมื่อรวมบัญชีปริมาณสต็อกเรียบร้อยแล้ว ระยะเวลานำเข้าวัตถุดิบ คือ 28 กันยายน 2562 ถึง 17 มิถุนายน 2563 คำถามคือ 1. เวลาที่จะขอขยายระยะเวลาการนำเข้าวัตถุดิบต้องยื่นในระบบฯ เพื่อขอขยายทั้ง 2 โครงการหรือไม่ 2. ถ้ายื่นขอขยายเวลาแล้วระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติฯ จะสิ้นสุดสิทธิฯ วันที่เท่าไร (11 มิ.ย. 2563)

กรณีมีการรวมบัญชีสต็อกวัตถุดิบ

1. ระยะเวลาการได้รับสิทธิของบัญชีรวมสต็อก จะกำหนดให้เป็นระยะเวลาที่สั้นที่สุดครั้งล่าสุดของทุกโครงการ (สั้นหน้า สั้นหลัง) ซึ่งกรณีของบริษัทที่สอบถาม คือ 28 ก.ย. 62 - 17 มิ.ย. 63

2. การขยายเวลานำเข้าวัตถุดิบครั้งแรกหลังรวมบัญชีสต็อก ให้ยื่นขยายเฉพาะโครงการที่จะสิ้นสุดก่อน ซึ่งกรณีของบริษัทคือ ขยายเวลาโครงการที่ 2 (สิ้นสุด 17 มิ.ย. 63) โดยจะได้รับอนุญาตให้ขยายเวลาถึงวันสิ้นสุดสิทธิของอีกโครงการหนึ่ง (27 ก.ย. 64)

3. หลังจากนั้น เมื่อใกล้ครบระยะเวลานำเข้าของทั้ง 2 โครงการ (27 ก.ย. 64) ให้ยื่นขยายเวลานำเข้าของทั้ง 2 โครงการ ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้ขยายครั้งละไม่เกิน 2 ปี (11 มิ.ย. 2563)

การนำเข้าวัตถุดิบก่อนได้รับอนุมัติบัญชีวัตถุดิบ: กรณีเรากำลังขออนุมัติรายการวัตถุดิบรายการใหม่ แล้วจำเป็นจำเป็นต้องเอาเข้าก่อนได้การอนุมัตินั้น ในใบขนสามารถ ระบุสงวนสิทธิ BOI ชำระอากรไปก่อนแล้วขอคืนอากรย้อนหลังได้ใช่ไหม (11 มิ.ย. 2563)

กรณีมีการขอแก้ไขบัญชีรายการวัตถุดิบเพื่อเพิ่มวัตถุดิบรายการใหม่ หากได้รับอนุมัติ จะมีผลตั้งแต่วันเริ่มต้น - วันสิ้นสุดของสิทธิประโยชน์มาตรา 36 ที่บริษัทได้รับ

ดังนั้น หากบริษัทนำเข้าวัตถุดิบก่อนได้รับอนุมัติแก้ไขบัญชี โดยชำระภาษีสงวนสิทธิ ก็สามารถขอสั่งปล่อยคืนอากรภายหลังจากได้รับอนุมัติแก้ไขบัญชีได้ แต่ต้องเป็นการนำเข้าในช่วงเวลาที่ได้รับสิทธิมาตรา 36 (11 มิ.ย. 2563)

ในกรณีที่บัตรส่งเสริมของเราได้รับสิทธิประโยชน์เฉพาะเครื่องจักรใหม่เท่านั้น แต่เราจะมีการนำเครื่องจักรเก่าที่มีอายุมากกว่า10ปี เข้ามาใช้งาน ดังนั้นเราจำเป็นต้องขอใบรับรองประสิทธิภาพเครื่องจักรเก่ามาด้วยหรือไม่ เพราะเราไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์

ให้แยกเป็น 2 เรื่องดังนี้

1. สามารถใช้เครื่องจักรเก่าได้หรือไม่

ตอบ ให้ตรวจสอบเงื่อนไขในบัตรส่งเสริมว่ามีการอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรเก่าได้หรือไม่

หากมี กำหนดอายุเครื่องจักรเก่าไว้อย่างไร ก็ต้องปฏิบัติตามนั้น

หากไม่มี หมายความว่า ไม่สามารถใช้เครื่องจักรเก่าในโครงการได้ ไม่ว่าจะเสียภาษีอากรเข้าขาเองก็ตาม

2. ต้องมีใบรับรองประสิทธิภาพเครื่องจักรเก่าหรือไม่

ตอบ กรณีที่บัตรส่งเสริมอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรเก่า จะกำหนดเงื่อนไขด้วยว่าต้องมีใบรับรองประสิทธิภาพเครื่องจักรเก่าด้วย ยกเว้นเครื่องจักรบางรายการ เช่น แม่พิมพ์ JIG&FIGTURE ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีใบรับรองประสิทธิภาพเครื่องจักรเก่า

ในกรณีจะสร้างโรงกรองน้ำประปา พวกเครื่องจักรต่างๆ ที่สั่งจากต่างประเทศ เพื่อใช้ในโรงงานผลิตน้ำ สามารถยกเว้นภาษีนำเข้าได้ ส่วนท่อน้ำดิบและท่อประปาที่ต้องใช้สูบน้ำดิบเพื่อใช้ผลิตน้ำประปา และท่อน้ำประปาเพื่อส่งน้ำประปาไปยังผู้ใช้น้ำ ทางบริษัทจะสั่งท่อดังกล่าวจากต่างประเทศ ทาง BOI จะยกเว้นภาษีนำเข้าท่อให้หรือไม่

กรณีที่บริษัทได้รับการส่งเสริม และได้รับสิทธิตามมาตรา 28

1. เครื่องจักรในการผลิตน้ำ จะสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีตามมาตรา 28 ได้

2. เครื่องจักรในการสูบน้ำ และระบบท่อส่งน้ำ จะสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีตามมาตรา 28 ได้ แต่ ทั้งนี้ ในโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมและได้รับอนุมัติ จะต้องระบุว่ามีกระบวนการสูบน้ำจาก .... และส่งน้ำจากโรงงานไปยัง .... เป็นระยะทาง .... ด้วย

ทั้งนี้ เครื่องจักรที่จะได้รับสิทธิตามข้อ 1 และ 2 จะต้องไม่เป็นเครื่องจักรมีผลิตหรือประกอบในประเทศ ซึ่งมีคุณภาพใกล้เคียงกัน และมีปริมาณเพียงพอที่จะจัดหามาใช้ได้

ตัวอย่าง เช่น เรานำเข้าวันที่ 1 มิถุนายน 2563 และสวนสิทธิ BOI แล้ว เจ้าหน้าที่อนุมัติแก้ไขเพิ่มรายการวัตถุดิบ วันที่ 10 มิถุนายน 2563 และดำเนินต่อ IC เข้าระบบเรียบร้อยแล้วดำเนินการยื่นไฟล์ขอสั่งปล่อยคืนอากรย้อนหลัง คือ 15 มิถุนายน 2563 แบบนี้ถูกต้องใช่ไหม (สิทธิ์มาตรา 36 ของบริษัท ของโครงการคือ start_date: 17/12/2011 end_date: 16/12/2020) (11 มิ.ย. 2563)
ตามตัวอย่างที่สอบถาม สามารถสั่งปล่อยคืนอากรได้
การคำนวณกำลังการผลิต: รบกวนขอสอบถามดังนี้ บริษัท A ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานฯ โดยมีกำลังการผลิตตามบัตรส่งเสริม10 ล้านชิ้น/เดือน ถ้าตอนที่บริษัทยื่นเรื่องขอเปิดดำเนินการฯ กำลังการผลิตตามที่ตรวจเปิดฯ ผลิตได้จริงๆ จำนวน 8 ล้านชิ้น/เดือน บริษัทต้องการทราบว่าการที่บริษัทฯ ผลิตได้เพียง 8 ล้านชิ้น/เดือน จะมีผลทำให้ต้องลด Max stock ของวัตถุดิบ เป็น 8 ล้านชิ้น/เดือน ตามกำลังการผลิตที่ผลิตได้จริงๆ หรือไม่คะ รบกวนขอคำแนะนำ (11 มิ.ย. 2563)

ตอบคำถามดังนี้ 1. ในการตรวจสอบเปิดดำเนินการ หากพบว่ามีกำลังผลิตมากกว่าหรือน้อยกว่ากำลังผลิตในบัตรส่งเสริมไม่เกิน 20% ถือว่ามีกำลังผลิตเป็นไปตามที่ได้รับส่งเสริม จึงไม่ต้องลดกำลังผลิตในขั้นเปิดดำเนินการ

2. กรณีตรวจสอบว่ามีกำลังผลิตต่ำกว่ากำลังผลิตในบัตรส่งเสริมมากกว่า 20% จะเปิดดำเนินการโดยลดกำลังผลิตในบัตรส่งเสริมให้เท่ากับที่ตรวจสอบได้จริง และเมื่อบริษัทได้รับใบอนุญาตเปิดดำเนินการ และแก้ไขบัตรส่งเสริมลดกำลังผลิตเป็นที่เรียบร้อย ให้ยื่นขอแก้ไขปรับลด Max Stock วัตถุดิบ ต่อกองที่รับผิดชอบโครงการของบริษัทต่อไป

บริษัทเปิดดำเนินการแล้ว ต่อมาต้องการจำหน่ายเครื่องจักรหลักไปต่างประเทศ และไม่มีเครื่องใหม่มาทดแทน หากกระทบกับกำลังผลิต บริษัทต้องยื่นขอแก้ไขโครงการหรือไม่ อย่างไร

แม้ว่าบริษัทจะได้รับใบอนุญาตเปิดดำเนินการแล้ว ก็ยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งหมดในบัตรส่งเสริม ดังนั้น หากจะมีการจำหน่ายเครื่องจักรหลัก และทำให้กำลังผลิตลดลงมากกว่า 20% ของบัตรส่งเสริม จะต้องแจ้ง BOI เพื่อขอแก้ไขโครงการ และขออนุญาตจำหน่ายหรือส่งคืนเครื่องจักรไปต่างประเทศ

ขอสอบถามขั้นตอนวิธีการนำเข้าเครื่องจักรมือ 2 ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

การนำเข้าเครื่องจักรเก่าใช้แล้ว เพื่อมาใช้ในโครงการที่ได้รับการส่งเสริม มีเงื่อนไขดังนี้

1. ในบัตรส่งเสริมจะต้องมีข้อความระบุการอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรเก่าในโครงการที่ได้รับส่งเสริม

2. อายุของเครื่องจักรเก่า ต้องเป็นไปตามที่ระบุในบัตรส่งเสริม

3. ต้องมีใบรับรองประสิทธิภาพเครื่องจักรเก่าตามหลักเกณฑ์ที่ BOI กำหนด

กรณีที่บัตรส่งเสริมระบุให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีอากรเครื่องจักรเก่า สามารถยื่นสั่งปล่อยผ่านระบบ eMT ได้ตามปกติ

แต่หากบัตรส่งเสริมระบุไม่ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีอากรเครื่องจักรเก่า ก็ให้นำเข้าโดยชำระภาษีอากรตามปกติ และไม่ต้องยื่นสั่งปล่อยต่อ BOI แต่จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อข้างต้น

ลูกค้าในประเทศ ซื้อสินค้าส่งไปต่างประเทศ: ลูกค้าในประเทศสั่งซื้อสินค้า ให้เราผลิต และส่งสินค้าไปต่างประเทศ กรณีนี้สามารถกระทำได้และตัดบัญชีวัตถุดิบตามปกติ ใช่ไหม หมายถึงเราเป็นผู้ส่งออก และผู้รับสินค้าอยู่ต่างประเทศBill to : ABC (Thailand) Shipper : We Delivery address : ABC (China) (11 มิ.ย. 2563)

A (BOI) จำหน่ายให้ B (บริษัท Trading ในประเทศไทย - Non BOI) โดยส่งสินค้าไปยัง C (ต่างประเทศ) แอดมินไม่แน่ใจว่า ชื่อผู้ส่งออกในใบขนสินค้าขาออก จะต้องเป็น A หรือ B ขอให้สอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร โดยตรง

หากชื่อผู้ส่งออกในใบขนสินค้าขาออกเป็น B (Trading Non-BOI) สามารถโอนสิทธิตัดบัญชีใบขนสินค้าขาออกให้กับ A (BOI) ได้ โดย

1. ระบุการใช้สิทธิและประโยชน์มาตรา 36 ในช่องเงื่อนไขการใช้สิทธิ์ BOI (Y) ในใบขนสินค้าขาออกอิเล็กทรอนิกส์

2. ระบุเลขนิติบุคคล 13 หลักของ A ในช่อง Remark ของสินค้าแต่ละรายการในใบขนสินค้าขาออกอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะโอนสิทธิตัดบัญชีวัตถุดิบไปให้ A เป็นผู้ตัดบัญชี

การตัดบัญชีจากส่วนสูญเสียที่ไม่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ตามสภาพผลิตภัณฑ์: ทางบริษัทฯ ได้ทำการทำลายผลิตภัณฑ์ BOI เนื่องจากสินค้าไม่ได้คุณภาพ และได้รับจดหมายจาก BOI อนุมัติให้ตัดบัญชีฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในหน้ารายการที่ทาง BOI แนบกลับมาเป็นการระบุ ชื่อผลิตภัณฑ์ เท่านั้น ไม่มีแยกย่อยเป็นแต่ละกรุ๊ปตามสูตรการผลิต โดยตามปกติที่บริษัทฯ ปรับยอดวัตถุดิบกับ IC จะมีช่อง GRP_NO และ GRP_DESC (ตาม BIRTADJ) จึงเรียนสอบถามว่า ในการปรับยอดวัตถุดิบกับทาง IC ที่เป็นสภาพผลิตภัณฑ์ ทางบริษัทฯ ต้องทำอย่างไรบ้าง (11 มิ.ย. 2563)

กรณีทำลายสินค้าสำเร็จรูปที่มีสูตรการผลิต เมื่อได้รับอนุมัติตัดบัญชีจาก BOI แล้ว ให้ยื่น "ตัดบัญชีวัตถุดิบ" ตามสูตรการผลิตที่ได้รับอนุมัติ โดยมีขั้นตอนดังนี้

1. คีย์ไฟล์ตัดบัญชี (EXPORT.XLSX) โดยกรอกข้อมูลเช่นเดียวกับการตัดบัญชีปกติ แต่ให้ระบุเลขที่เอกสารส่งออกเป็นเลขที่ นร ที่อนุมัติให้ตัดบัญชี และกรอกวันที่ส่งออกเป็นวันที่ตามหนังสืออนุมัติ

2. ยื่นตัดบัญชีแบบ paperless ผ่านระบบ IC Online โดยติ๊กช่องรูปแบบไฟล์ที่ส่งเป็น "เอกสารอื่น" และแนบไฟล์ EXPORT ที่เตรียมไว้ตามข้อ 1

3. เมื่อระบบได้รับข้อมูลแล้ว จะยังประมวลผลไม่ได้ เนื่องจากระบบไม่มีข้อมูลหนังสืออนุมัติตัดบัญชีจาก BOI 4. บริษัทเข้าไปในเมนู "ตรวจสอบข้อมูลระบบ paperless" เพื่อเช็ค "เลขที่รับงาน" ของการยื่นตัดบัญชีที่รอประมวลผลงวดนั้น

5. จากนั้น บริษัทจัดเตรียมแบบฟอร์มหนังสือขออนุมัติตัดบัญชี (กรณีปกติ) โดยดาวน์โหลดได้จาก แบบฟอร์มงานตัดบัญชีวัตถุดิบ RMTS โดยให้นำ "เลขที่รับงาน" ตามข้อ 4 มากรอกเป็น "เลขที่งวด" ในแบบฟอร์ม จากนั้นกรอกข้อมูลอื่นๆ และลงนามประทับ และ scan เป็น pdf

6. ส่งแบบฟอร์มขอตัดบัญชีตามข้อ 5 และสำเนาหนังสืออนุมัติตัดบัญชีจาก BOI ทางอีเมล์ไปยัง supportbkk@ic.or.th

7. จากนั้นโทรศัพท์ติดตามงานกับ IC ต่อไป

บริษัทสอบถามเกี่ยวกับโครงการที่ได้รับการส่งเสริมแล้ว และมีประเด็นว่าวัตถุดิบที่บริษัทจะนำเข้าโดยใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบฯ ตามมาตรา 36 มาใช้กับเครื่องจักรที่ไม่ได้ใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรเข้ามาได้หรือไม่

ศบท. ได้ชี้แจงว่าสิทธิตามมาตรา 36 นั้นใช้ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตตามโครงการที่ได้รับส่งเสริม ด้วยเครื่องจักรที่อยู่ในโครงการที่ได้รับส่งเสริม และผลิตแล้วจะส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเครื่องจักรที่อยู่ในโครงการที่ได้รับส่งเสริมนั้นอาจจะใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 28 หรือลดหย่อนตามมาตรา 29 หรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้อาจจะพิจารณาเบื้องต้นว่าเครื่องจักรอยู่ในโครงการหรือไม่โดยการดูรายละเอียดเครื่องจักรในเอกสารตรวจเปิดดำเนินการก็ได้หากได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการแล้ว

ระบุประเภทเครื่องจักรผิดในบัญชีรายชื่อเครื่องจักร ในกรณีที่เราขออนุมัติบัญชีรายการเครื่องจักรไปแล้ว ปรากฏว่ามีเครื่องจักรบางเครื่องเราใส่ประเภทของเครื่องจักรผิด เราจะสามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้หรือไม่ และต้องทำอย่างไร รบกวนขอคำแนะนำ เช่น SLOPE BARREL ตอนขอระบุประเภทไว้เป็น "เครื่องจักร" แต่ที่ถูกต้อง SLOPE BARREL ต้องเป็น "อะไหล่ของเครื่องจักร"

หากบริษัทนำรายการอะไหล่ ไปยื่นขออนุมัติในบัญชีเครื่องจักร และได้รับอนุมัติแล้ว จะปล่อยเลยตามเลยไปก็ได้ แต่จะมีข้อเสียคือ หากจะนำเข้าเพิ่มเติม ก็ต้องยื่นขอเพิ่มจำนวนเครื่องจักรทุกครั้ง (แต่หากเป็นอะไหล่จะไม่กำหนดจำนวนอนุมัติสูงสุด)

กรณีต้องการแก้ไขให้ถูกต้อง หากยังไม่ได้ใช้สิทธิสั่งปล่อยเครื่องจักร (อะไหล่) รายการนั้นก็ให้ยื่นขอยกเลิกรายการเครื่องจักร จากนั้นให้ยื่นขออนุมัติใหม่ในบัญชีรายการอะไหล่

แต่หากใช้สิทธิสั่งปล่อยเครื่องจักร (อะไหล่) รายการนั้นไปแล้ว จะยกเลิกรายการเครื่องจักรนั้นไม่ได้ และในกรณีนี้ก็จะยื่นขออนุมัติเป็นชื่ออะไหล่ไม่ได้ด้วย เนื่องจากระบบ eMT จะล็อคไม่ให้ยื่นขอชื่ออะไหล่โดยใช้ชื่อที่ซ้ำกับชื่อเครื่องจักร

ส่วนสูญเสียในสูตรที่ไม่มีมูลค่า + สูตรการผลิต: สอบถามกรณีต้องการยื่นส่วนสูญเสียในสูตร สามารถแก้ไขสูตรโดยรวมปริมาณสวนสูญเสียในสูตร เข้าไปในปริมาณรวม โดยไม่แจกแจงออกมาเป็นปริมาณส่วนสูญเสียในสูตร สำหรับกรณีส่วนสูญเสียในสูตรไม่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่ ส่วนกรณีส่วนสูญเสียในสูตรที่มีมูลค่าก็จะยื่นสูตรปกติตัวอย่าง เช่น 1.ส่วนสูญเสียในสูตรไม่มีมูลค่า เช่น Hardener เดิมยื่นสูตรไว้ NW 0.001 Kg / Waste 0 kg / GW 0.001 Kg ต่อมาต้องการแก้ไขสูตรโดยรวมส่วนสูญเสียในสูตร 0.0001 Kg เข้าไปด้วย สามารถยื่นแบบนี้ได้ไหมคะ NW 0.0011 Kg / Waste 0 kg / GW 0.0011 Kg 2. ส่วนสูญเสียในสูตรที่มีมูลค่า เช่น Cable เดิมยื่นสูตรไว้ Net 1.0 Mtr / Waste 0 Mtr / Gross 1.0 Mtr ต่อมาต้องการแก้ไขสูตรโดยรวมส่วนสูญเสียในสูตร 0.05 Mtr เข้าไปด้วยจะดำเนินการยื่นแบบนี้ Net 1.0 Mtr / Waste 0.5 Mtr / Gross 1.05 Mtr (11 มิ.ย. 2563)

การขออนุมัติสูตรการผลิต จะต้องแสดงรายการและปริมาณการใช้วัตถุดิบ (net) ต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ รวมทั้งปริมาณการส่วนสูญเสียในกระบวนการผลิต (loss) ตาม ประกาศ สกท ที่ ป.8/2561 ไม่ใช่นำ net และ loss มารวมกัน แล้วยื่นขอเป็นปริมาณการใช้วัตถุดิบ (net)

1.หากเราไม่เคยยื่นส่วนสูญเสียในสูตรมาก่อน สามารถขอแก้ไขสูตรได้ใช่ไหม หากส่วนสูญเสียนั้นๆ ไม่มีมูลค่า จำเป็นต้องขอแก้ไขไหม 2.กรณีส่วนสูญเสียไม่มีมูลค่า เช่น พวก Hardener , Resin ทั้งในสูตรและนอกสูตรสามารถเก็บในสถานที่เดียวกัน และ เวลาจะนำออกนอกโรงงาน ไม่จำเป็นต้องยื่นขออนุญาตจากบีโอไอใช่ไหม 3. หน่วยทศนิยมสำหรับยื่นสูตร มี 5 หน่วยได้หรือไม่ (เช่น 0.00001) (11 มิ.ย. 2563)

1.หากสูตรการผลิตที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว ไม่ตรงกับการผลิตจริงในปัจจุบัน บริษัทสามารถยื่นขอแก้ไขสูตรการผลิตนั้นได้ โดยระบบจะบันทึกการแก้ไขแต่ละครั้ง เป็น revision 2, 3, 4, ... ตามลำดับ และเมื่อมีการตัดบัญชีสินค้าโมเดลนั้น บริษัทสามารถเลือก revision ที่ต้องการใช้ตัดบัญชีได้

2.ส่วนสูญเสียนอกสูตรการผลิต จะต้องแยกเก็บตามชนิดและปริมาณ เพื่อรอการตรวจสอบรับรองการทำลายจาก บ.Inspector แต่ส่วนสูญเสียในสูตรการผลิต ไม่ต้องรอตรวจสอบ สามารถนำไปกำจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต BOI / หรือหากเป็นส่วนสูญเสียที่มีมูลค่าตามสภาพ จะต้องยื่นขอชำระภาษีก่อนส่วนสูญเสียในสูตรและนอกสูตร จะเก็บรวมกันไม่ได้ เพราะจะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบชนิดและปริมาณของส่วนสูญเสียแต่ละชนิดได้

3.สูตรการผลิต สามารถมีทศนิยมได้ 8 หลัก

นำเข้าแม่พิมพ์มาทดลองใช้ บริษัทต้องการนำเข้าแม่พิมพ์มาทดลองใช้จากต่างประเทศ สามารถดำเนินการดังนี้ได้หรือไม่ 1. นำเข้ามาโดยใช้อินวอยซ์ no commercial value สำแดงราคาจริง โดยใช้สิทธิ ม.28 (กิจการ 5.1) 2. หากนำมาทดสอบแล้วใช้ได้ เราจะให้ผู้ขายออกอินวอยซ์เรียกเก็บตามราคาจริง ที่ตรงกับที่สำแดง ตอนนำเข้า 3. หากทดสอบแล้วใช้ไม่ได้ เราจะส่งคืนแม่พิมพ์ไปต่างประเทศ โดยขออนุญาตจากบีโอไอ เพื่อตัดบัญชีเครื่องจักร ออกจาก master list

การนำเข้าแม่พิมพ์จากต่างประเทศมาทดลองใช้ สามารถใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 28 ได้

และหากทดลองแล้วไม่ผ่าน เมื่อจะส่งคืนก็ให้ยื่นขออนุญาตส่งคืนเครื่องจักรไปต่างประเทศ จากนั้นนำหลักฐานส่งออกมายื่นตัดบัญชีเครื่องจักรต่อไป

การส่งคืนแม่พิมพ์ (ในกรณีที่ส่งซ่อมแล้วไม่ได้มาตรฐาน) ในกรณีที่ส่งแม่พิมพ์ไปซ่อมที่ต่างประเทศ (ภายใต้การใช้สิทธิ์ BOI) และมีแม่พิมพ์บางตัวที่ซ่อมแล้ว ไม่ได้ตามค่ามาตรฐานที่กำหนดจึงไม่ได้ส่งกลับคืนมา ทางบริษัทจะสามารถยื่นคำขอเป็นส่งคืนได้หรือไม่ และในกรณีที่ไม่สามารถยื่นคำขอเป็นส่งคืน จะต้องทำการเสียภาษีหรือไม่

กรณีส่งแม่พิมพ์ไปซ่อมแล้ว แต่ซ่อมไม่ได้จึงไม่ต้องการนำกลับเข้ามาให้ยื่นคำร้องเพื่อเปลี่ยนสถานะการส่งซ่อมเป็นส่งคืนจากเมนูส่งซ่อม/ส่งคืน ในระบบ eMT

พอดีมีความไม่เข้าใจเกี่ยวกับส่วนสูญเสียในสูตรว่ามันแยกออกจากส่วนสูญเสียนอกสูตรได้ชัดเจนหรือไม่อย่างกรณี สายไฟ hardener ส่วนสูญเสียในสูตรเกิดขึ้นยังไง อย่างถ้าเผื่อปริมาณการตัดสายไฟ กรณีตัดเกินออกมานิดหน่อย แล้วต้องมาตัดให้พอดีอีกรอบ อย่างนี้ถึงเป็นในสูตรไหมคะ หรือ Hardener เวลาหยอดออกมาอาจจะเผื่อหยอดเกินอะไรประมาณนี้ถือเป็นส่วนสูญเสียในสูตรไหม แต่หากตัดสายไฟสั้นเกินไป ทำให้ต้องตัดสายไฟใหม่ทั้งเส้น เส้นที่ผิดก็ถือเป็นนอกสูตรหรือเปล่า (11 มิ.ย. 2563)
ส่วนสูญเสียในสูตร คือ ส่วนสูญเสียที่จะเกิดขึ้นทุกครั้งในอัตราคงที่ เมื่อมีการผลิตสินค้าโมเดลนั้น ๆ เศษสายไฟ ที่มีการตัดยาวตัดสั้นเกินไป หรือ Hardender ที่เผื่อปริมาณหยอดเกิน ฯลฯ จึงไม่ใช่ส่วนสูญเสียในสูตร เนื่องจากไม่ใช่อัตราสูญเสียคงที่ในการผลิตสินค้า
สอบถามภาษาอังกฤษของคำว่า ส่วนสูญเสียนอกสูตร และส่วนสูญเสียในสูตร ได้ไหม พอดีจะสื่อสารกับนายต่างชาติจะได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น บางที่ไปใช้ waste or scrap ไม่รู้ตัวไหนเป็นศัพท์เฉพาะ อีกคำถามคือ ส่วนสูญเสียนอกสูตร ที่มีแต่วัตถุดิบที่ไม่ได้คุณภาพ ไม่ได้ผ่านการผลิตหรือประกอบ สามารถยื่นขอชำระภาษีหรือส่งออก โดยไม่ต้องมี third party มาเป็นผู้รับรอง ใช่หรือไม่ (11 มิ.ย. 2563)

1. ส่วนสูญเสียในสูตรการผลิตจะใช้ว่า scrap (หรือ loss) included in production formula ก็ได้ แต่ประเด็นคือต้องอธิบายนิยามตามข้อกำหนดของ BOI ให้ถูกต้อง

2. วัตถุดิบที่ไม่ได้คุณภาพ หรือไม่สามารถนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์เดิมได้ เป็นส่วนสูญเสียนอกสูตรสามารถขออนุญาตส่งคืนไปต่างประเทศโดยไม่มีภาระภาษี โดยระบุชื่อส่งออกตามที่ชื่อวัตถุดิบที่นำเข้ามา และไม่ต้องให้ บ.Inspector รับรองจากนั้นจึงขอตัดบัญชี (ปรับยอด) ต่อไป

หากบริษัทนำเครื่องจักรเข้ามาเกินกว่า 30% ของกำลังผลิตในบัตรส่งเสริม จะสามารถใช้ในโครงการเดิมได้หรือไม่

หากนำเข้าเครื่องจักรเข้ามาเกิน 30% ในช่วงที่ยังไม่ครบกำหนดเปิดดำเนินการ สามารถนำเครื่องจักรนั้นไปรวมเป็นการลงทุนของโครงการนั้นได้ แต่ BOI จะแก้ไขกำลังผลิตให้ในวันที่อนุญาตให้เปิดดำเนินการเท่านั้น

ทั้งนี้ หากสิทธิประโยชน์ของโครงการนั้น แตกต่างกับสิทธิประโยชน์กรณียื่นเป็นคำขอใหม่ในปัจจุบัน จะอนุญาตให้เพิ่มกำลังผลิตได้ไม่เกิน 30% และแก้ไขวงเงินลงทุน (วงเงินยกเว้นภาษีเงินได้) ให้ตามสัดส่วนของกำลังผลิตที่อนุญาตให้เพิ่มขึ้น โดยส่วนที่ผลิตเกินกว่านั้น ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล

การทำ BOM เครื่องจักร กับ การทำ Master List เครื่องจักร ความหมายเหมือนกันหรือเปล่า

Master List หมายถึง บัญชีรายการเครื่องจักรที่จะขอใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 28 หรือ 29 จาก BOI โดยแบ่งเป็น 3 บัญชี คือ

  • บัญชีเครื่องจักร
  • บัญชีอะไหล่
  • บัญชีแม่พิมพ์

ส่วน BOM หมายถึง กรณีนำเข้าเครื่องจักรตามรายการใน Master List โดยถอดแยกชิ้นไม่ครบชุด หรือครบชุดแต่แยกนำเข้าหลายเที่ยวเรือ จะต้องระบุรายการชิ้นส่วนนั้นๆ โดยผูกไว้กับรายการเครื่องจักรนั้นๆ ด้วย

เช่น หากบริษัทจะนำเข้าชิ้นส่วน A1, A2, A3 จากต่างประเทศ เพื่อมาประกอบเข้ากับชิ้นส่วน A4 ที่ซื้อในประเทศ เป็นเครื่องจักร A กรณีนี้จะต้องยื่นอนุมัติบัญชีรายการเครื่องจักรเป็น A โดยมี BOM เป็น A1, A2, และ A3

ขออภัยครับ ไม่มีข้อมูลส่วนนี้ ในภาษาที่ท่านเลือก !

Sorry, There is no information support your selected language !

Download และ ติดตั้งโปรแกรมอ่าน PDF

Download PDF Reader

Site map