Chat
x
toggle menu
toggle menu

Not Found

ภาษีธุรกิจเฉพาะ

ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรประเภทหนึ่ง จัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่างแทนภาษีการค้าที่ถูกยกเลิก ภาษีธุรกิจเฉพาะเริ่มใช้บังคับใน พ.ศ.2535 พร้อมกันกับภาษีมูลค่าเพิ่ม

 
1. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
2. การประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
3. กิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
4. ฐานภาษีและอัตราภาษี
5. หน้าที่ของผู้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
6. การยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ
7. การขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะ
8. กำหนดเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ธ.40)
9. สถานที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี
1. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
 

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ ผู้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่ว่าผู้ประกอบกิจการดังกล่าวจะประกอบกิจการในรูปของ

        -   บุคคลธรรมดา

        -   คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

        -   กองมรดก

        -   ห้างหุ้นส่วนสามัญ

        -   กองทุน

        -   หน่วยงานหรือกิจการของเอกชนที่กระทำโดยบุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันมิใช่นิติบุคคล 

        -   องค์การของรัฐบาล สหกรณ์ และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล

ในกรณีผู้ประกอบกิจการอยู่นอกราชอาณาจักร ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการประกอบกิจการรวมตลอดถึง ลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้ทำการแทนซึ่งมีอำนาจในการจัดการแทนโดยตรง หรือโดยปริยายที่อยู่ในราชอาณาจักร เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีร่วมกับผู้ประกอบกิจการดังกล่าวข้างต้น

 
Go to TOP
 
2. การประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
 

กิจการที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะได้แก่ การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักร โดยกิจการนั้น ไม่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ

        1.   การธนาคาร
ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือกฎหมายเฉพาะ

        2.   การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วย การประกอบ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

        3.   การรับประกันชีวิต ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต

        4.   การรับจำนำ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ

        5.   การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงินค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงิน หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ

              ในกรณีที่มีปัญหาว่า กิจการใดเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์หรือไม อธิบดีกรมสรรพากรจะเสนอให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรพิจารณากำหนดขอบเขตและเงื่อนไขของการประกอบกิจการดังกล่าวนั้นก็ได้และเมื่อคณะกรรมการวินิจฉัย ภาษีอากรได้วินิจฉัยแล้ว ให้ประกาศคำวินิจฉัยนั้นในราชกิจจานุเบกษา

        6.   การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 (ใช้บังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป) ดังต่อไปนี้

              การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถือว่าเป็นทางการค้าหรือหากำไรตามพระราชกฤษฎีกาฯ ได้แก่การขายอสังหาริม ทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ดังต่อไปนี้

            (1)   การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถือว่าเป็นทางการค้าหรือหากำไรตามพระราชกฤษฎีกาฯ ได้แก่ การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังต่อไปนี้

            (2)   การขายห้องชุดของผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วย อาคารชุด

            (3)   การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อขาย รวมถึงการขายที่ดินอันเป็นที่ตั้งของ อาคารดังกล่าว

            (4)   การขายอสังหริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) หรือ (3) เฉพาะกรณีที่มีการแบ่งขาย หรือแบ่งแยกไว้เพื่อขาย โดยได้จัดทำถนนหรือสิ่งสาธารณูปโภคอื่น หรือให้คำสั่นว่าจะจัดให้มีสิ่งดังกล่าว

            (5)   การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเฉพาะของบริษัทหรื ห้างหุ้นส่วน ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล องค์การของรัฐบาล สหกรณ์ และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล

            (6)   การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เว้นแต่

                    (ก)   การขายหรือการถูกเวนคืนตามกฎหมาย ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

                    (ข)   การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก

                    (ค)   การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญที่ผู้ขายมีชื่อ อยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีที่นับแต่วันที่ได้มาซึ่ง อสังหาริมทรัพย์นั้นในกรณีที่ที่ดินและอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างตาม (ค) ได้มาไม่พร้อมกันกำหนดเวลาห้า ปีตามความใน (16) ให้ถือตามระยะเวลาการได้มาซึ่งที่ดินหรืออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้มาภายหลัง

                    (ง)   การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ โดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายของตน แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม

                    (จ)   การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ ทางมรดกให้แก่ทายาท โดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม

                    (ฉ)   การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ส่วนราชการหรือ องค์การของรัฐบาลโดยไม่มีค่าตอบแทน

                    (ช)   การแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์กับส่วนราชการ หรือองค์การของรัฐบาลเฉพาะในกรณีที่ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลนั้นมิได้มีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นอย่าง อื่น นอกจากอสังหาริมทรัพย์ที่แลกเปลี่ยนนั้น

หมายเหตุ ผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์ตาม (6) ซึ่งได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะไว้แล้วเมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเสียภาษีเงินได้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าว มาคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา(พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 376 พ.ศ.2544)

            (7)   การขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์

            (8)   การประกอบกิจการอื่น ตามกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

            กำหนดให้กิจการซื้อและขายคืนหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์เป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้อง เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากการประกอบกิจการซื้อหรือขายคืนหลักทรัพย์โดยมีสัญญาหรือซื้อคืนดังกล่าวมี ลักษณะอื่นที่อยู่ในบัง คับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ (พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 350) พ.ศ. 2524

            กำหนดให้การประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงเป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจ เฉพาะ เนื่องจากการประกอบธุรกิจดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับการให้กู้ยืมเงินที่เป็นการประกอบกิจการโดยปกติ เยี่ยงธนาคารพาณิชย์ (พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 358) พ.ศ.2542 )

            คำว่า "ธุรกิจแฟ็กเตอริง" หมายความว่า ธุรกิจที่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการตกลงจะ โอนทรัพย์สินที่จะได้รับจากการชำระหนี้เนื่องจากการขายสินค้าหรือการให้บริการระหว่างตนกับลูกหนี้ของตน ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง โดยผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริงตกลงจะให้สินเชื่อซึ่งรวมถึงการให้กู้ยืมและการ ทดรองจ่ายแก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการและรับที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

                    (ก)   จัดให้มีบัญชีทรัพย์สินที่จะได้รับการชำระหนี้

                    (ข)   เรียกเก็บทรัพย์สินที่จะได้รับจากการชำระหนี้

                    (ค)   รับผิดชอบในหนี้ที่ลูกหนี้ของผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการผิดนัด

 
Go to TOP
 
3. กิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
 

การประกอบกิจการต่อไปนี้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

        1.   กิจการของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

        2.   กิจการของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

        3.   กิจการของสหกรณ์ออมทรัพย์เฉพาะการให้กู้ยืมแก่สมาชิกหรือแก่สหกรณ์ออมทรัพย์อื่น

        4.   กิจการของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

        5.   กิจการของการเคหะแห่งชาติเฉพาะการขาย หรือให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์

        6.   กิจการรับจำนำของกระทรวง ทบวง กรม และราชการส่วนท้องถิ่น 

        7.   กิจการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยใน ตลาดหลักทรัพย์

        8.   กิจการของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม

        9.   กิจการของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม

        10.   กิจการของธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย

        11.   กิจการของกองทุนสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

        12.   กิจการขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน

        13.   กิจการของบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน

        14.   กิจการของนิติบุคคลเฉพาะกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้

                 (1)   กิจการที่เกิดขึ้นเนื่องจากการรับโอนทรัพย์สินจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น หรือการโอนทรัพย์สินดังกล่าวคืนให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น

                 (2)   กิจการที่ได้รับโอนมาจากผู้โอนซึ่งได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตาม (1)-(7) ข้างต้น

        15.   กิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นในส่วนที่เกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์ เป็นหลักทรัพย์ เฉพาะที่เกิดขึ้นเนื่องจากการโอนทรัพย์สินให้แก่นิติบุคคลเฉพาะกิจหรือการรับโอนทรัพย์สินดังกล่าว กลับคืนจากนิติบุคคลเฉพาะกิจ

        16.   กิจการของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบัน การเงินและกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์เฉพาะการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์และการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหา กำไร

        17.   กิจการของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย

        18.   กิจการของการเคหะแห่งชาติ เฉพาะการให้กู้ยืมเงินตามโครงการพัฒนาคนจนในเมือง

        19.   กิจการของสหกรณ์ประเภทสหกรณ์บริการซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่สมาชิก เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้

                 (1)   ต้องเป็นสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกของโครงการพัฒนาคนใจในเมืองของการเคหะแห่งชาติ และได้รับเงินตามโครงการดังกล่าว

                 (2)   ต้องนำเงินที่ได้รับไปจัดซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อขายต่อให้แก่สมาชิกของสหกรณ์นั้น

        20.   กิจการของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ เฉพาะกรณีที่

                 (1)   สถาบันการเงินนั้นถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์เกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มี สิทธิออกเสียงหรือในกรณีที่สถาบันการเงินนั้นถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์และสถาบันการเงินนั้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง จะต้องมีนิติบุคคลรายหนึ่งถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์และสถาบันการเงินนั้น เกินกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง

                 (2)   เป็นรายรับที่ได้จากบริษัทบริหารสินทรัพย์ เนื่องจากการให้สินเชื่อแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อรับซื้อหรือโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินนั้นหรือสถาบันการเงินอื่นที่มีสถาบันการเงินนั้นถือหุ้นเกิน กว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง หรือการให้สินเชื่อแก่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อใช้ในการบริหารสิน ทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับซื้อหรือรับโอนจากสถาบันการเงินนั้นหรือสถาบันการเงินอื่นที่มีสถาบันการเงินนั้นถือหุ้นเกิน กว่าร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง

        21.   กิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร เนื่องจาก

                 (1)   การรับไถ่อสังหาริมทรัพย์จากากรขายฝากหรือการไถ่อสังหาริมทรัพย์จากการขายฝากโดยการ วางทรัพย์ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในเวลาที่กำหนดได้ในสัญญา หรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด

                 (2)   การขายอสังหาริทรัพย์ภายหลังที่ได้ไถ่จากการขายฝากซึ่งเมื่อรวมระยะเวลาการได้มาซึ่ง อสังหาริมทรัพย์ก่อนการขายฝาก ระยะเวลาระหว่างการขายฝากและระยะเวลาภายหลังจากการขายฝากแล้วเกินห้าปี

        22.   การขายอสังหาริมทรัพย์ขององค์การบริหารสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ หรือบริษัทจำกัดที่สถาบันการ เงินตามพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งองค์การบริหารสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2540 ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการบริหาร สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์โดยความเห็นชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย

        23.   การขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบกิจการให้แก่องค์การฯ หรือบริษัทจำกัดตาม 22

หมายเหตุ

กรณีประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ กรมสรรพากรวาง แนวทางปฏิบัติ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.26/2534 กำหนดให้รายรับกรณีดอกเบี้ยสำหรับกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องนำ มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังนี้

                 (1)   กรณีบริษัทในเครือเดียวให้กู้ยืมเงินกันเอง ไม่ว่าจะนำเงินของตนหรือนำเงินที่กู้ยืมจากบุคคลอื่นมา ให้กู้ยืมในระหว่างกันเองและไม่ว่าจะคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใดก็ตาม ดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินในกรณีเช่นนี้ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

                          คำว่า "บริษัทในเครือเดียวกัน" หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้น ไปซึ่งมีความสัมพันธ์กันโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วน อยู่ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลอีกแห่งหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนวันที่มีการกู้ยืม

                 (2)   กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำเงินทุน เงินกู้ยืม เงินเพิ่มทุน หรือเงินที่อื่นที่เหลืออยู่ไป ฝากธนาคารหรือซื้อตั๋วเงินของสถาบันการเงินอื่น โดยได้รับดอกเบี้ยตามอัตราปกติกรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าดอกเบี้ยนั้นเป็นรายรับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แม้ว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ก็ตาม

                         ความใน 1. และ 2. ไม่รวมถึงการประกอบกิจการธนาคาร กิจการธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และการรับประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต

                 (3)   กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีระเบียบเกี่ยวกับ เงินกองทุนสะสมพนักงานหรือทุนอื่นใดเพื่อพนักงาน และบรษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้นำเงินกองทุนนี้ออกให้พนักงานที่เป็นสมาชิกกู้ยืมเป็นสวัสดิการ โดยคิดดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ให้กู้นั้นตามสมควร ไม่ต้องนำดอกเบี้ยนั้นมารวมคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

 
Go to TOP
 
4. ฐานภาษี และอัตราภาษี
 

ฐานภาษีสำหรับการประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ รายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ที่ผู้ประกอบกิจการได้รับ หรือพึงได้รับเนื่องจากการประกอบกิจการ

"รายรับ" หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่าที่ผู้ประกอบกิจการ ได้รับหรือพึงได้รับ ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการ

กิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จะต้องเสียภาษีโดยคำนวณจากฐานภาษี ซึ่งได้แก่ รายรับตามฐานภาษี ของแต่ละประเภทกิจการ คูณด้วยอัตราภาษีที่กำหนดไว้ และจะต้องเสียภาษีท้องถิ่นอีก ร้อยละ 10 ของจำนวนภาษี ธุรกิจเฉพาะดังกล่าว

กิจการ ฐานภาษี อัตราภาษีร้อยละ

1.   กิจการธนาคาร,ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์, ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และการประกอบกิจการเยี่ยง ธนาคารพาณิชย์

-   ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือกำไรก่อนหักรายจ่าย ใดๆ จากการซื้อหรือขายตั๋วเงินหรือ ตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใด ๆ

3.0

-   กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการ แลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตรา การออกตั๋วเงินหรือการส่งเงินไปต่างประเทศ

3.0

2.   กิจการรับประกันชีวิต

-   ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ

2.5

3.   กิจการโรงรับจำนำ

-   ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม

2.5

-  เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือ ประโยชน์ใดๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับ หรือพึงได้รับจากการขายของที่ จำนำหลุดเป็นสิทธิ

2.5

4.   การค้าอสังหาริมทรัพย์

- รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ

0.1

5.   การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์

-   รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ

0.1 (ยกเว้น)

6.   การซื้อและการขายคืนหลัก ทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจาก คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์

-   กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการขายคืนหลักทรัพย์ แต่ไม่รวมถึง ดอกเบี้ย เงินปันผล หรือประโยชน์ใดๆ ที่ได้จากหลักทรัพย์

3.0

7.   ธุรกิจแฟ็กเตอริง

-   ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการ

3.0


หมายเหตุ   อัตราภาษีของการค้าอสังหาริมทรัพย์ให้ลดและคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.1 โดยมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2544 (พระราชกฤษฎีกา(ฉบับที่ 366) พ.ศ.2543)

การคำนวณรายรับดังกล่าวข้างต้นให้เป็นไปตามวิธีการหลักเกณฑ์และการปฏิบัติทางบัญชี และเมื่อได้เลือก ปฏิบัติเป็นอย่างใดแล้ว (เช่น เลือกใช้เกณฑ์เงินสดหรือเกณฑ์สิทธิ เป็นต้น) จะต้องถือปฏิบัติเป็นอย่างเดียวตลอดไป เว้นแต่ จะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลง

 

 
Go to TOP
 
5. หน้าที่ของผู้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
 


ผู้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติดังนี้

1.   หน้าที่ในการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ

       ผู้ประกอบกิจการที่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามแบบคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มประกอบกิจการ

       วิธีการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ

            1.1   แบบคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.01)

                     แบบคำขอที่ใช้ในการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะได้แก่แบบ ภ.ธ.01 ทั้งนี้ให้ผู้ประกอบกิจการ ขอรับแบบคำขอจดทะเบียนได้ที่สำนักงานสรรพากรอำเภอ หรือสำนักงานภาษีสรรรพากรพื้นที่ทุกแห่ง

            1.2   การกรอกแบบคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ การยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ผู้ประกอบกิจการต้องกรอกแบบคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ แบบ ภ.ธ.01 จำนวน 3 ฉบับ โดยมีข้อความครบถ้วนถูกต้องตรงกันทั้ง 3 ฉบับ ในการกรอกรายการ ตามแบบ ภ.ธ.01 ผู้ประกอบกิจการต้องแสดงสถานภาพต่างๆ ของการประกอบกิจการ ดังนี้

                     (1)   ชื่อผู้ประกอบกิจการ

                             สำหรับผู้ประกอบกิจการที่เป็นบุคคลธรรมดาให้กรอกชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ วัน เดือน ปีเกิด เลขประจำตัวประชาชน และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร

                             สำหรับผู้ประกอบกิจการที่เป็นนิติบุคคล ให้กรอกชื่อของนิติบุคคลที่ใช้ใน การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท ตามที่ปรากฏในหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กระทรวงพาณิชย์ และชื่อภาษาอังกฤษ (ถ้ามี) พร้อมรายละเอียดเลขที่ทะเบียนนิติบุคคล วัน เดือน ปีที่จดทะเบียน สถานที่จดทะเบียน รอบระยะเวลาบัญชี และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของนิติบุคคลนั้น

                     (2)   ชื่อและสถานที่ตั้งสถานประกอบการ

                             ชื่อและที่ตั้งสำนักงานใหญ่ให้กรอกชื่อของสถานประกอบการของ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล (ถ้ามี) ซึ่งได้แก่ชื่อทางการค้าและกรอกเลขที่ตั้งของสถานประกอบการหรือที่ตั้ง ของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ชื่อและที่ตั้งสาขา กรณีมีสถานประกอบการหลายแห่งให้ระบุจำนวน สถานประกอบการที่เป็นสาขา พร้อมทั้งกรอกรายละเอียด ชื่อ และที่ตั้งสาขาทั้งหมดลง ในด้านหลังของแบบ ภ.ธ.01

                     (3)   วันเริ่มประกอบกิจการ

                             ให้กรอกวันที่ผู้ประกอบกิจการเริ่มประกอบกิจการจริง พร้อมทั้งกรอก รายละเอียดเกี่ยวกับเงินทุน รายรับ ลูกจ้าง และค่าเช่าสถานประกอบการ

                     (4)   ประเภทของการประกอบกิจการ

                             ให้ผู้ประกอบกิจการเลือกใส่เครื่องหมายหน้าข้อความประเภทของการ ประกอบกิจการแล้วแต่กรณี

                     (5)   เอกสารแนบ

                             ให้ระบุจำนวนเอกสารต่าง ๆ ที่แนบมาพร้อมกับแบบ ภ.ธ.01 ซึ่งจะต้องตรงกับ จำนวนเอกสาร ตามที่ระบุไว้ในด้านหลังของแบบภ.ธ.01

                     (6)   การลงชื่อของผู้ประกอบกิจการ และการประทับตรานิติบุคคล

                             กรณีบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ กองมรดก ผู้มีอำนาจ ลงชื่อได้แก่ เจ้าของ ผู้อำนวยการ ผู้จัดการ ที่ระบุไว้ตาม (1) หรือผู้รับมอบอำนาจจากบุคคลดังกล่าว

                             กรณีนิติบุคคล ผู้มีอำนาจลงชื่อ ได้แก่ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้น ๆ เช่น กรรมการ ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้จัดการ หรือผู้รับมอบอำนาจจากบุคคลดังกล่าว พร้อมทั้งประทับตรานิติบุคคล (ถ้ามี) ด้วย

            1.3   เอกสารที่ต้องแนบพร้อมแบบคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ

                     (1)   สำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียนบ้าน และหรือหลักฐานแสดงการอยู่อาศัยจริงภาพถ่ายบัตร ประจำตัวประชาชน และบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ยื่นคำขอ และหรือภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน ของผู้รับมอบอำนาจ

                     (2)   สำเนาหรือภาพถ่ายสัญญาเช่าอาคารอันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการ(ในกรณีเช่า) หรือ หนังสือยินยอมให้ประกอบการ (ในกรณีอาคารเป็นของผู้อื่นโดยมิได้เช่า) พร้อมด้วยสำเนาหรือภาพถ่ายทะเบียน บ้านอันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการ

                     (3)   สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน (ในกรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วน สามัญ หรือคณะบุคคล)

                     (4)   สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกระทรวงพาณิชย์ (ในกรณีที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย) พร้อมทั้งสำเนาหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ (ในกรณีที่เป็นบริษัทจำกัดที่ต้องขึ้นตามกฏหมายไทย) และสำเนาหรือภาพถ่ายใบทะเบียนพาณิชย์

                     (5)   ภาพถ่ายบัตรประจำตัวกรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ ในกรณีเป็น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

                     (6)  แผนที่สังเขปหรือภายถ่ายสถานประกอบการ

                     (7)   เอกสารอื่น ๆ (ถ้ามี) เช่นหนังสือมอบอำนาจ กรณีผู้ประกอบกิจการมอบอำนาจให้บุคคลอื่น ดำเนินการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะแทนผู้ประกอบกิจการ

            1.4   กำหนดเวลาในการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะผู้ประกอบกิจการที่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะ ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มประกอบกิจการ

            1.5   สถานที่จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะให้ผู้ประกอบกิจการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะตาม แบบ ภ.ธ.01 ณ สถานที่ดังต่อไปนี้

                     (1)   ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่

                               -   สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือ

                               -   สำนักงานเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

                     (2)   ในจังหวัดอื่นได้แก่

                               -   สำนักงานสรรพากรอำเภอ หรือกิ่งอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

                               ในกรณีผู้ประกอบกิจการมีสถานประกอบการหลายแห่ง หรือไม่มีสถานประกอบการ ผู้ประกอบกิจการ จะต้องยื่น ภ.ธ.01 ณ หน่วยงานตาม (1) หรือ (2) ในท้องที่ต่อไปนี้

                                    (ก)   ท้องที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ถ้าผู้ประกอบกิจการมีสถาน ประกอบการเป็นสำนักงานใหญ่

                                    (ข)   ท้องที่ที่สถานประกอบการแห่งหนึ่ง ที่ผู้ประกอบกิจการเลือกตั้งอยู่ถ้าผู้ประกอบการ ไม่มีสถานประกอบการแห่งใดเป็นสำนักงานใหญ่

                                    (ค)   ท้องที่ซึ่งที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบกิจการตั้งอยู่ ถ้าผู้ประกอบกิจการมีที่อยู่อาศัย แห่งเดียวเป็นสถานประกอบการ

                                    (ง)   ท้องที่ซึ่งที่อยู่อาศัยแห่งหนึ่ง (ที่ผู้ประกอบกิจการเลือก) ตั้งอยู่

                                    ถ้าผู้ประกอบกิจการมีที่อยู่อาศัยหลายแห่งเป็นสถานประกอบการ“สถานประกอบการ” หมายความว่า สถานที่ซึ่งผู้ประกอบการใช้ประกอบกิจการเป็นประจำ และให้หมายความรวมถึง สถานที่ซึ่งใช้เป็นที่ผลิตหรือเก็บสินค้าเป็นประจำด้วย

                                    ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการไม่มีสถานประกอบการตามวรรคก่อนให้ถือว่า ที่อยู่อาศัย ของผู้ประกอบกิจการนั้น เป็นสถานประกอบการ ถ้าผู้ประกอบกิจการมีที่อยู่อาศัยหลายแห่งให้ผู้ประกอบกิจการ เลือกที่อยู่อาศัยแห่งหนึ่งเป็นสถานประกอบการ

            1.6   ใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ

                     (1)   การแสดงใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ

                             เมื่อเจ้าพนักงานได้รับคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะตามแบบ ภ.ธ.01 พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว จะออกใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะคือ ภ.ธ.20 ให้ ซึ่งจะมีผลให้ผู้ประกอบกิจการ เป็นผู้ประกอบกิจการตามกฎหมาย ตั้งแต่วันเริ่มประกอบกิจการ (วันที่ผู้ประกอบการเริ่มประกอบกิจการจริง)

                             ในการออกใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ เจ้าพนักงานจะออกให้ตามจำนวน สถานประกอบการ ที่มีอยู่จริง ตามที่ได้แจ้งไว้ในแบบ ภ.ธ.01 เช่นผู้ประกอบกิจการมีสถานประกอบการหลายแห่ง หรือมีสำนักงานสาขา จะได้ใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นรายสถานประกอบการหรือสาขาตามที่แจ้งไว้ ผู้ประกอบ กิจการจะต้องนำใบทะเบียนดังกล่าวไปแสดงไว้ ณ ที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่ายในสถานประกอบการเป็นรายสถานประกอบ การ

                     (2)   ใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุด

                             กรณีใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ผู้ประกอบกิจการจะต้องยื่นคำขอรับใบแทนใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามแบบ ภ.ธ.04 ณ หน่วยจดทะเบียน ที่ได้จดทะเบียนฯ ไว้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุด

                             ในกรณีใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะชำรุด จะต้องแนบใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่ชำรุดมาพร้อมกับแบบ ภ.ธ.04

                             ในกรณีใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะสูญหาย ถูกทำลาย ผู้ประกอบกิจการจะต้องแจ้ง ความต่อสถานีตำรวจท้องที่เพื่อคัดสำเนาบันทึกประจำวันจากพนักงานสอบสวนมาพร้อมกับแบบ ภ.ธ.04 ด้วย

2.   การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับกิจการต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ แก้ไขเปลี่ยนแปลง รายการที่ได้ จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะในสาระสำคัญ เช่น

       -   เปลี่ยนแปลงชื่อสถานประกอบการ ประเภทกิจการ ประเภทสินค้า หรือบริการ

       -   เปิดสถานประกอบการเพิ่ม

       -   หยุดประกอบกิจการชั่วคราว

       -   โอนกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด

       -   ควบเข้ากันของนิติบุคคล

       -   เลิกประกอบกิจการ

       -   ผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนถึงแก่ความตาย

3.   วิธีแจ้งเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ

       ในการแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ให้ผู้ประกอบกิจการยื่นแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลง ทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะตามแบบ ภ.ธ.09 จำนวน 1 ชุด 3 ฉบับ พร้อมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

       -   สำเนาทะเบียนบ้าน

       -   หนังสือแสดงการเปลี่ยนชื่อ นามสกุล

       -   สำเนาหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท

       -   บัญชีเอกสารประกอบการบันทึกบัญชี

       -   ใบทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ

       -   หนังสือมอบอำนาจ (กรณีมิได้มาดำเนินการเอง) พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของ ผู้มอบและผู้รับมอบ

       -   อื่น ๆ

4.   สถานที่แจ้งเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ

       ให้ผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนแจ้งการเปลี่ยนแปลงภาษีธุรกิจเฉพาะ ณ หน่วยจดทะเบียนที่ได้ จดทะเบียนฯ ไว้ภายในกำหนดเวลาแล้วแต่กรณี

5.   กำหนดเวลาแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ

       5.1   แจ้งเปลี่ยนแปลงรายการที่ได้จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ในสาระสำคัญ เช่น เปลี่ยนแปลง ชื่อสถานประกอบการ ประเภทกิจการ ประเภทสินค้าหรือบริการ ต้องแจ้งภายใน 15 วันนับจากวันที่มีการเปลี่ยน แปลงเกิดขึ้น

       5.2   แจ้งเปิดสถานประกอบการเพิ่มเติม ต้องแจ้งก่อนวันเปิดสถานประกอบการเพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 15 วัน

       5.3   แจ้งปิดสถานประกอบการบางแห่งต้องแจ้งภายใน 15 วันนับจากวันปิดสถานประกอบการ พร้อมคืน ภ.ธ.20 ของสถานประกอบการนั้น

       5.4   แจ้งย้ายสถานประกอบการ

                5.4.1   กรณีสถานประกอบการใหม่อยู่ภายในท้องที่ที่ได้จดทะเบียนฯ ไว้เดิม จะต้องแจ้งก่อน วันย้ายสถานประกอบการไม่น้อยกว่า 15 วันพร้อมคืนภ.ธ.20 ของสถานประกอบการ เดิม ณ หน่วยจดทะเบียน ที่ได้จดทะเบียนฯ ไว้

                5.4.2   กรณีสถานประกอบการใหม่อยู่ต่างท้องที่ จะต้องแจ้งก่อนวันย้ายสถานประกอบการ ไม่น้อยกว่า 15 วัน และยื่น ภ.ธ.09 พร้อมคืน ภ.ธ.20 ของสถานประกอบการเดิม ณ หน่วยจดทะเบียนท้องที่ที่สถาน ประกอบการแห่งใหม่ตั้งอยู่ก่อนวันเปิดสถานประกอบการแห่งใหม่ไม่น้อยกว่า 15 วัน

       5.5   แจ้งหยุดประกอบกิจการชั่วคราวเป็นเวลาติดต่อกันเกิน 30 วันจะต้องแจ้งภายใน15 วันนับ จากวันที่หยุดประกอบกิจการชั่วคราว

       5.6   แจ้งโอนกิจการ (บางส่วนหรือทั้งหมด)

                5.6.1   ผู้โอนกิจการ จะต้องแจ้งก่อนวันโอนกิจการไม่น้อยกว่า 15 วัน และถ้าเป็นการโอนกิจการ ทั้งหมดจะต้องคืน ภ.ธ.20 พร้อมยื่น ภ.ธ.09 ด้วย

                5.6.2   ผู้รับโอนกิจการ

                             5.6.2.1   ถ้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องแจ้งก่อนวันรับโอนกิจการไม่น้อย กว่า 15 วัน โดยยื่น ภ.ธ099 ณ หน่วยจดทะเบียนที่ผู้รับโอนได้จดทะเบียนฯ ไว้

                             5.6.2.2   ถ้ามิใช่ผู้ประกอบกิจการ จะต้องแจ้งก่อนวันรับโอนกิจการไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยยื่น ภ.ธ.01 ณ หน่วยจดทะเบียนท้องที่ ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ด้วย

       5.7   แจ้งควบกิจการ

                5.7.1   นิติบุคคลเดิม จะต้องแจ้งภายใน 15 วันนับจากวันควบเข้ากัน พร้อมกับคืน ภ.ธ.20 ของสถานประกอบการเดิม ณ หน่วยจดทะเบียนที่ผู้รับโอนได้จดทะเบียนฯ ไว้

                5.7.2   นิติบุคคลใหม่ จะต้องแจ้งภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ โดยยื่น ภ.ธ.01 ณ หน่วยจดทะเบียนท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ด้วย

       5.8   แจ้งเลิกประกอบกิจการ ต้องแจ้งภายใน 15 วันนับจากวันเลิกประกอบกิจการ พร้อมคืน ภ.ธ.20

       5.9   แจ้งผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาถึงแก่ความตาย

                5.9.1   กรณีเป็นผู้ครอบครองมรดก ใช้สิทธิดำเนินกิจการของผู้ตาย จะต้องแจ้งโดยเร็วที่สุด

                5.9.2   กรณีเป็นผู้ครอบครองมรดก ไม่ใช้สิทธิดำเนินกิจการของผู้ตาย หรือใช้สิทธิดำเนิน กิจการแล้วแต่พ้นกำหนดเวลา 60 วัน หรือพ้นกำหนดเวลาที่อธิบดีกรมสรรพากรขยายให้แล้วไม่มีผู้จัดการมรดก หรือทายาทขอโอนกิจการของผู้ตาย จะต้องแต่ภายใน 15 วันนับจากวันที่ผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนถึงแก่ความตาย หรือนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาดำเนินกิจการดังกล่าว พร้อมคืน ภ.ธ.20 ด้วย

                5.9.3   กรณีเป็นผู้จัดการมรดกหรือทายาทที่ประสงค์จะประกอบกิจการของผู้ตายต่อไป และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน จะต้องแจ้งก่อนวันรับโอนกิจการไม่น้อยกว่า 15 วัน พร้อมกับคืน ภ.ธ.20 ของผู้ตาย

                5.9.4   กรณีเป็นผู้จัดการมรดกหรือทายาทที่ประสงค์จะประกอบกิจการของผู้ตายต่อไป แต่มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน จะต้องแจ้งก่อนวันรับโอนกิจการไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยยื่น ภ.ธ.01 พร้อมกับคืน ภ.ธ.20 ของผู้ตาย

 
Go to TOP
 
6. การยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ
 


1.   ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่

       1.1   บุคคลซึ่งประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยกิจการนั้นไม่ได้รับยกเว้น ภาษีธุรกิจเฉพาะ

       1.2   ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการประกอบกิจการในราชอาณาจักรของผู้ประกอบกิจการอยู่นอกราชอาณาจักร

       1.3   ลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้ทำการแทนซึ่งมีอำนาจในการจัดการแทนโดยตรงหรือโดยปริยายที่อยู่ในราช อาณาจักรของผู้ประกอบกิจการที่อยู่นอกราชอาณาจักร

2.   แบบแสดงรายการที่ใช้

       แบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ใช้ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี ธุรกิจเฉพาะได้แก่ แบบ ภ.ธ.40

3.   หน้าที่ในการจัดทำรายงาน

       ผู้ประกอบกิจการที่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ มีหน้าที่จัดทำรายงานแสดงรายรับก่อนหักรายจ่ายที่ต้อง เสียภาษีและรายรับที่ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีรายงานดังกล่าวให้จัดทำตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากร กำหนดโดยให้ จัดทำเป็นรายสถานประกอบการทั้งนี้การลงรายการในรายงานให้ลง ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่มีรายรับเว้นแต่อธิบดี กรมสรรพากรเห็นสมควร สำหรับการประกอบกิจการบางประเภทหรือในกรณีจำเป็นเฉพาะรายอธิบดีจะกำหนดเป็นอย่าง อื่นตามที่เห็นสมควรก็ได้

4.   หน้าที่ในการเก็บรักษารายงานและเอกสารหลักฐาน

       ผู้ประกอบกิจการที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะต้องเก็บและรักษารายงานพร้อมทั้งเอกสารประกอบ การลงรายงานหรือเอกสารที่อธิบดีกำหนดไว้ ณ สถานประกอบการจัดทำรายงานนั้นหรือสถานที่อื่นที่อธิบดีกรมสรรพากร กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือวันทำรายงานแล้วแต่กรณี

5.   หน้าที่ในการออกใบรับ

       ผู้ประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งได้รับเงิน หรือรับชำระราคาจากการขายสินค้า หรือการให้บริการหรือจากการกระทำกิจการรวมเงินหรือราคาที่ได้รับชำระแต่ละครั้ง เกิน 100 บาท ต้องออกใบรับให้แก่ ผู้จ่ายเงินหรือผู้ชำระราคาในทันทีทุกคราวที่รับเงินหรือรับชำระราคาไม่ว่าจะมีการเรียกร้องให้ออกใบรับหรือไม่ก็ตาม

   
 
Go to TOP
 
7. การขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะ
 


1.   ผู้มีสิทธิขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่

       1.1   ผู้ประกอบกิจการที่มีหน้าที่เสียภาษี ซึ่งได้ชำระภาษีไว้เกินหรือผิด หรือซ้ำ

       1.2   ผู้ไม่มีหน้าที่เสียภาษีแต่ได้ชำระภาษีไว้

2.   ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ มีสิทธิขอคืนเงินภาษีได้โดยใช้คำร้องขอคืนเงินภาษีอากร คือแบบ ค.10

3.   การยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามแบบ ค.10 จะต้องแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกับคำร้อง ด้วยได้แก่

       3.1   หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล กรณีผู้ขอคืนเป็นนิติบุคคล

       3.2   ใบเสร็จรับเงินภาษีธุรกิจเฉพาะ

       3.3   หลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ขอคืน

4. ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีภายใน 3 ปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่น แบบแสดงรายการภาษี

 
Go to TOP
 
8. กำหนดเวลาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี
 


-   ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีโดยใช้แบบ ภ.ธ.40 (แสดงประเภทของกิจการ จำนวนรายรับ จำนวนภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีท้องถิ่นอีกร้อยละ 10 ของภาษีธุรกิจเฉพาะ)

-   ยื่นแบบแสดงรายการเป็นรายเดือนภาษี ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าจะมีรายรับในเดือนนั้น หรือไม่ก็ตาม

-   ภาษีในเดือนภาษีใด เมื่อรวมคำนวณแล้วมีจำนวนไม่ถึง 100บาท ผู้ประกอบกิจการไม่ต้องเสียภาษีสำหรับ เดือนภาษีนั้น แต่ยังคงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการตามปกติ

 
Go to TOP
 
9. สถานที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี
 


ผู้ประกอบกิจการจะต้องยื่นแบบ ภ.ธ.40 พร้อมกับชำระภาษี (ถ้ามี) ณ สถานที่ดังต่อไปนี้

      (1)   ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ

                -   สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (เขต/อำเภอ) ในท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

                -   สถานที่อื่นซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้เป็นสถานที่ยื่นแบบและชำระภาษี

      (2)   ในเขตจังหวัดอื่น ให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (อำเภอ/กิ่งอำเภอ) ในท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

                -   สถานที่อื่นซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้เป็นสถานที่ยื่นแบบและชำระภาษี

                หมายเหตุ การยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี สามารถยื่นผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ บริการยื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต)

 
Go to TOP
 
ที่มา : กรมสรรพากร ปรับปรุงครั้งล่าสุด : 25 มีนาคม 2547

ขออภัยครับ ไม่มีข้อมูลส่วนนี้ ในภาษาที่ท่านเลือก !

Sorry, There is no information support your selected language !

Download และ ติดตั้งโปรแกรมอ่าน PDF

Download PDF Reader

Site map