Chat
x
toggle menu
toggle menu

Select Groups

All Group
  • All Group
  • นโยบายเเละมาตรการพิเศษในการส่งเสริม
  • การขอรับการส่งเสริมการลงทุน
  • การออกบัตรส่งเสริม
  • การเปิดดำเนินการ
  • การเเก้ไขโครงการ
  • การดำเนินการอื่น ๆ
  • การรายงานความคืบหน้าโครงการ (e-Monitoring)
  • การปฏิบัติหลังการได้รับการส่งเสริม
  • การยกเลิกบัตรส่งเสริม
  • เรื่องทั่วไป
  • การใช้สิทธิด้านที่ดิน
  • การใช้สิทธิด้านเครื่องจักร
  • การใช้สิทธิด้านช่างฝีมือ/ต่างด้าว
  • การใช้สิทธิด้านวัตถุดิบ
  • ประเภทกิจการ - การแพทย์
  • การใช้สิทธิด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล
  • ประเภทกิจการ - รถยนต์ไฟฟ้า
  • ประเภทกิจการ - ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC) IPO และ TISO
  • ประเภทกิจการ - โรงแรม
  • ประเภทกิจการ - ผลิตผลิตภัณฑ์โลหะรวมทั้งชิ้นส่วนโลหะ
  • ประเภทกิจการ - กิจการผลิตเครื่่องจักร อุุปกรณ์และชิ้นส่วน
  • ประเภทกิจการ - กิจการศูนย์กระจายสินค้าระหว่า ประเทศด้วยระบบที่่ทันสมัย (IDC)
สอบถามการนับสิทธิยกเว้นภาษี บริษัทมี 2 บัตรส่งเสริม 1.บัตรก่อนน้ำท่วม (ปิดไปแล้ว) 2. บัตรหลังน้ำท่วม(ฟื้นฟู) การนับสิทธิยกเว้นภาษี ต้องเริ่มนับของบัตรใหม่หรือนับต่อจากบัตรเก่า (2 ก.ค. 2563)
บริษัทสามารถตรวจสอบข้อกำหนดเรื่องวันเริ่มใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ จากการลงทุนตามภายใต้มาตรการฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤติอุทกภัย กำหนดไว้ตาม คำชี้แจง สกท เรื่อง แนวปฏิบัติตามมาตรการด้านภาษีอากรเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤติอุทกภัย ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2556
บริษัทได้รับบัตรส่งเสริมการลุน อนุมัติวันที่ 26 กันยายน 2560 ให้ไว้ ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2560 เริ่มเปิดดำเนินการเดือน กรกฏาคม 2560 ไม่ทราบว่าต้องได้รับอนุมัติ ISO ภายในเดือนและปีที่เท่าไรคะ

เงื่อนไขเฉพาะโครงการเรื่องการดำเนินการให้ได้รับใบรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO ของบริษัท

“จะต้องดำเนินการให้ได้รับใบรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9000 หรือ ISO 14000 หรือมาตรฐานสากลอื่นที่เทียบเท่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันครบเปิดดำเนินการ หากไม่สามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จะถูกเพิกถอนสิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 1 ปี” ตามเงื่อนไขกำหนดไว้ 2 ปี นับแต่วันครบเปิดดำเนินการ

วันครบเปิดดำเนินการในที่นี้ คือ ทางบริษัทต้องยื่นขอเปิดดำเนินการเต็มโครงการกับสำนักงานฯ ภายใน 36 เดือน นับแต่วันที่ออกบัตรส่งเสริมวันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 หมายความว่า บริษัทต้องยื่นขออนุญาตเปิดดำเนินการเต็มโครงการภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 โดยเจ้าหน้าที่จะไปตรวจโรงงาน และตรวจสอบเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ได้ระบุไว้ในเงื่อนไขตามบัตรส่งเสริม และจะออกใบอนุญาตเปิดดำเนินการเต็มโครงการ สำหรับเงื่อนไข ISO ให้นับจากวันที่ได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการไปอีก 2 ปี

บริษัท A (BOI) นำวัตถุดิบเข้ามาโดยใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 36 (1) และผลิตเป็นชิ้นส่วนจำหน่ายให้กับบริษัท B (19 ทวิ) เพื่อผลิตส่งออก และมีส่วนสูญเสียที่เป็นชิ้นส่วนของบริษัท A เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตของบริษัท B ในกรณีเช่นนี้บริษัท A และ B จำต้องดำเนินการอย่างไร

1. กรณีบริษัท A (BOI) จำหน่ายชิ้นส่วนให้บริษัท B (19 ทวิ) เพื่อนำไปผลิตส่งออก

- บริษัท B (19 ทวิ) จะต้องทำเอกสารแนบท้ายใบขนเพื่อระบุการโอนสิทธิ์วัตถุดิบให้กับบริษัท A

- ชนิดและประมาณที่จะโอนสิทธิ์ให้บริษัท A ได้ ต้องเป็นชิ้นส่วนที่ติดไปกับสินค้าส่งออกจริง ตามสูตร 19 ทวิ เท่านั้น

2. กรณีมีส่วนสูญเสียของบริษัท A เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตของบริษัท B

- บริษัท B จะต้องส่งส่วนสูญเสียดังกล่าวคืนให้บริษัท A เพื่อให้บริษัท A นำไปตัดบัญชีส่วนสูญเสียตามขั้นตอนต่อไป

- กรณีที่บริษัท B ไม่สามารถส่งคืนส่วนสูญเสียให้กับบริษัท A หรือกรณีที่บริษัท A ไม่สามารถพิสูจน์ชนิดและปริมาณส่วนสูญเสียที่ได้รับคืนกลับมา บริษัท A จะตัดบัญชีได้ไม่ครบตามจำนวน และมีภาระภาษีอากรวัตถุดิบในส่วนนั้น

หากในข้อกฎหมายไม่ได้ระบุถึงอะไหล่ข้างใน ในกรณีนี้เลยคิดว่า ถ้าเปลี่ยนอะไหล่เล็กๆ เช่น ถ้าเปลี่ยนน๊อตของเครื่องจักรเพียงตัวเดียว ต้องแจ้งทำลายน๊อตด้วยหรือ เคยสอบถามได้ข้อมูลมาว่า ถ้าเครื่องจักรยังใช้งานอยู่ กรณีเปลี่ยนอะไหล่เพื่อให้เครื่องจักรทำงานต่อได้ ตัวอะไหล่ที่เสียหายสามารถทำลายได้เลยไม่ต้องแจ้ง เลยไม่แน่ใจว่าต้องทำอย่างไร

การทำลายเครื่องจักร เป็นวิธีการจัดการเครื่องจักรที่ชำรุดเสียหายแต่ยังไม่ปลอดภาระภาษี ให้พ้นจากภาระภาษี การทำลายจะต้องยื่นขออนุมัติวิธีทำลาย และทำลายโดยมีบริษัท Inspector ที่ได้รับอนุญาต เป็นผู้ตรวจสอบรับรองการทำลาย

ประเด็นที่สอบถาม ต้องพิจารณาว่า อะไหล่ดังกล่าวมีภาระภาษีหรือไม่ และปลอดภาระภาษีแล้วหรือไม่ หากนำอะไหล่ดังกล่าวไปจำหน่ายในประเทศ จะถือเป็นความผิดตามกฎหมายศุลกากรหรือไม่ หากเป็นความผิด ก็ต้องขออนุญาตทำลาย หรือขอชำระภาษีให้ถูกต้อง หากไม่เป็นความผิด ก็ไม่ต้องขอทำลาย สามารถจำหน่ายในประเทศได้เลย

อะไหล่ที่ติดมากับเครื่องจักร ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าพร้อมกับตัวเครื่องจักร จึงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ BOI เช่นเดียวกับเครื่องจักร

บริษัทได้นำเครื่องจักรมือสองพร้อม accessories นำเข้าภายใต้สิทธิ BOI ปัจจุบันอะไหล่ที่นำเข้าไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากเสื่อมสภาพ...และบริษัทจะนำเข้าอะไหล่ใหม่มาแทนอะไหล่เก่าที่เสื่อมสภาพ ดังนั้นหากบริษัทต้องการนำอะไหล่ดังกล่าวทิ้งหรือทำลายสามารถทำได้หรือไม่ ปล. อะไหล่ดังกล่าวไม่ได้ระบุชื่อในใบขนและ invoice นำเข้า

เครื่องจักร ส่วนประกอบ อะไหล่ แม่พิมพ์ ที่นำเข้ามาโดยใช้สิทธิยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าจาก BOI หากชำรุดเสียหาย จะต้องดำเนินการตามแนวทางของประกาศที่ ป.3/2555 คือ จะต้องขออนุญาตทำลาย ส่งออก หรือบริจาค จึงจะปลอดจากภาระภาษี หรืออาจจะเก็บไว้จนครบ 5 ปี แล้วจึงขอตัดบัญชีเพื่อปลอดภาระภาษี

หลักการนำเข้า Battery (แบตเตอรี่แห้ง) ภายใต้การใช้สิทธิ BOI 1. การนำเข้า Battery ภายใต้สิทธิ BOI หมายความว่า บริษัทฯได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มใช่หรือไม่ 2. บริษัทฯ ต้องยื่นเรื่องขออนุญาตนำเข้า Battery กับหน่วยงานราชการอื่น ก่อนการนำเข้าหรือไม่ 3. จะต้องเสียภาษีสรรรพสามิต และ ภาษีมหาดไทย ในอัตราร้อยละเท่าใด และขอทราบวิธีการคำนวณค่าภาษีดังกล่าว 4. กรณี สงวนสิทธิการนำเข้า Battery สามารถขอคืนภาษีอากรได้ ส่วนภาษีสรรพสามิต และ ภาษีมหาดไทย จะต้องดำเนินการอย่างไร

1. การนำวัตถุดิบเข้ามาใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก สามารถใช้สิทธิตาม ม.36 เพื่อยกเว้นอากรขาเข้า (และ VAT) ได้

2. การนำเข้าแบตเตอรี่บางประเภท อาจต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ขอให้ติดต่อสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง

3. และ 4. อัตราภาษีสรรพสามิตและภาษีมหาดไทย และการขอคืนภาษี ขอให้ติดต่อสอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง

วงเงินในการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับการยกเว้นกึ่งหนึ่ง: บริษัทได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี และได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งหนึ่งต่ออีก 5 ปี อยากทราบว่าหากครบ 8 ปี อีก 5 ปีเหลือ วงเงินที่ได้รับยกเว้น เช่น 1 ล้านบาท จะเป็นวงเงินที่รวมกันทั้งหมด 13 ปีหรือไม่ หรือ 5 ปีหลังไม่มีวงเงิน
กรณีที่บริษัทใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 31 ไม่ครบตามวงเงินที่ได้รับอนุมัติ ไม่สามารถนำวงเงินส่วนที่เหลือ ไปใช้สิทธิในช่วงที่ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 35 เนื่องจากมาตรา 35 ไม่กำหนดวงเงินสูงสุดที่จะได้รับการลดหย่อน แต่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามวงเงินภาษีที่ต้องชำระจริง
กรณีบัตร BOI ที่หมดอายุแล้ว และมีบัตรใหม่แล้ว บริษัทสามารถขอยกเลิกบัตรเดิมได้หรือไม่ ทั้งที่กิจการยังคงดำเนินการปกติ

1. บัตรส่งเสริม BOI ไม่มีวันที่หมดอายุบริษัทจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในบัตรส่งเสริม จนกว่าจะยกเลิกบัตรส่งเสริม

2. กรณีไม่ประสงค์จะเป็นผู้ได้รับส่งเสริม สามารถขอยกเลิกบัตรส่งเสริมได้ โดยบริษัทยังคงสามารถดำเนินกิจการนั้นต่อไปได้ แต่สิทธิประโยชน์ทั้งหมดจะสิ้นสุดลง (การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน การอนุญาตให้ชาวต่างชาติทำงาน สิทธิประโยชน์ทางภาษี ฯลฯ)

3. การจะยกเลิกบัตรส่งเสริมเดิม เนื่องจากได้รับส่งเสริมโครงการใหม่ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากเครื่องจักรของโครงการเดิม จะนำไปใช้ในโครงการใหม่ ไม่ได้

ถ้าเป็นกิจการ IPO เขาจะได้รับสิทธิเกี่ยวกับเครื่องจักร(แม่พิมพ์) อย่างไรบ้าง เขาได้รับการส่งเสริมปี 2547 ขยายเวลานำเข้าวัตถุดิบแล้ว

กิจการ IPO ที่ได้รับส่งเสริมจะมีขั้นตอนตรวจสอบและบรรจุสินค้า ดังนั้น เครื่องจักรในโครงการจึงเป็นเครื่องจักร เครื่องมือ ที่เกี่ยวกับขั้นตอนดังกล่าว แม้บางกรณี กิจการ IPO อาจอนุญาตให้มีขั้นตอนนำวัตถุดิบไปว่าจ้างผลิตได้ แต่ก็ต้องไม่ใช่การผลิตที่เป็นขั้นตอนสำคัญซึ่งทำให้วัตถุดิบนั้นเปลี่ยนแปลงรูปร่างและสาระไป ดังนั้น โอกาสที่กิจการ IPO จะมีขั้นตอนที่ต้องใช้แม่พิมพ์ จึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก คำตอบที่ด้านบนเป็นการให้คำตอบบนหลักการเท่านั้น คือ หากจะโอนแม่พิมพ์ให้โครงการใด โครงการที่รับโอนจะต้องมีบัญชีเครื่องจักรรายการนั้นๆ และยังมีระยะเวลานำเข้าเหลืออยู่

หากนำเครื่องจักรเข้ามาก่อนได้รับบัตรส่งเสริม ต้องดำเนินการอย่างไร 1. เอกสารที่ต้องทำการยื่นร้องต่อกรมศุลกากร ที่ถูกต้อง ควรเป็นอย่างไรและมีอะไรบ้าง 2. ในใบขนสินค้าระบุว่า "สงวนสิทธิ์ BOI" เอาไว้ สามารถนำเครื่องออกก่อนการคีย์บัญชีเครื่องจักร ในระบบ eMT ได้หรือไม่ 3. เอกสารการสั่งปล่อยปล่อยเครื่องจักรมีอะไรบ้าง

1.การดำเนินการจ่ายค่าอากรไปก่อน และแจ้งสงวนสิทธิไปก่อนนั้นถูกต้องแล้วในหลักการ

2. ขั้นตอนต่อไปจะต้องออกบัตรส่งเสริมก่อน แล้วติดต่อขอ username/password ที่ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ (ชั้น 3 บีโอไอ สนญ) เพื่อเข้าระบบ eMT ได้

3. เมื่อเข้าระบบ eMT แล้วจะต้องทำการขออนุมัติ Master List เพื่ออนุมัติชื่อและจำนวนเครื่องจักรที่สามารถใช้สิทธิ์ได้

4. เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จึงขอสั่งปล่อยเครื่องจักรแบบคืนอากรกับสมาคมสโมสรนักลงทุน เพื่อให้มีหนังสือจากสำนักงานไปยังศุลกากร เพื่อทำเรื่องขอคืนอากรต่อไป

5. สำหรับเอกสารประกอบการสั่งปล่อยโปรดติดต่อสมาคมสโมสรนักลงทุน

โทรศัพท์ (66) 0 2936 1429

โทรสาร (66) 0 2936 1441-2

เว็บไซต์ : http://www.ic.or.th

อีเมล์ : is-investor@ic.or.th

6. สำหรับการติดต่อคืนอากรโปรดติดต่อ

ฝ่ายเอกสิทธิและส่งเสริมการลงทุน ส่วนบริการกลาง สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ โทร. 0-2667-7000 ต่อ 20-7641, 20-5525 หรือ 20-5536

ฝ่ายเอกสิทธิและส่งเสริมการลงทุน ส่วนบริการกลาง สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โทร. 0-2134-1250, 0-2134-1251 หรือ 0-2134-1245

ฝ่ายเอกสิทธิและส่งเสริมการลงทุน ส่วนบริการกลาง สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังโทร. 0-2667-7000 ต่อ 25-7873, 25-7910, 25-7913 หรือ 25-7875

หรือหากมีข้อเสนอแนะประการใดโปรดติดต่อ ฝ่ายเอกสิทธิและส่งเสริมการลงทุน ส่วนบริการกลาง สานักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ โทร. 0-2667-7641

บริษัทฯได้รับกรณีที่บริษัทA ว่าจ้างให้บริษัทB ผลิตผลิตภัณฑ์โดยวิธีการผลิตเป็นแบบเดียวกันกับของบริษัทAทุกประการที่ได้รับการส่งเสริม เพียงเพราะเหตุผลที่ว่า ยังไม่มีเครื่องจักรที่จะรองรับผลิตภัณฑ์ของลูกค้า (นั้นหมายความว่า ซื้อมาขายไป) จะต้องขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขโครงการอย่างไรดี หรือ จะขอเป็นโครงการใหม่ไปเลยดีกว่า เพื่อที่จะได้รับสิทธิเกี่ยวกับภาษาเงินได้นิติบุคคล

การขอแก้ไขกรรมวิธีการผลิตเพื่อทำการว่าจ้างผลิต ปกติต้องเป็นการนำกระบวนการในส่วนที่ไม่เป็นสาระสำคัญของโครงการไปทำการว่าจ้าง แต่ถ้าบริษัท A จะว่าจ้างบริษัท B ให้ทำการผลิตสินค้าเดียวกันครบทุกขั้นตอน เนื่องจากกำลังผลิตของเครื่องจักรของ A มีไม่พอ กรณีนี้ไม่สามารถแก้ไขโครงการได้ เพราะขัดต่อสาระสำคัญ การจะขอเป็นโครงการใหม่ ก็ไม่เข้าข่ายกิจการผลิต หรือจะขอส่งเสริมเป็นกิจการ IPO (ศูนย์จัดหาจัดซื้อชิ้นส่วนระหว่างประเทศ) ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของกิจการ IPO ให้ครบ ซึ่งกิจการ IPO ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

การเปลี่ยนชื่อบริษัท และย้ายที่ตั้งบริษัทใหม่ ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง (25 พ.ค 2563)

การเปลี่ยนชื่อบริษัท

1. จดหมายชี้แจง โดยต้องระบุเลขที่บัตรส่งเสริม ชื่อบริษัทเดิม เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ เขียนชื่อบริษัทเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

2. สำเนาหนังสือรับรองบริษัท (ฉบับใหม่/พร้อมลายเซ็นและประทับตราบริษัท)

3. บัตรส่งเสริมฉบับจริง

ยื่นเอกสารได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สำนักงานใหญ่) กลุ่มบัตรส่งเสริม ชั้น 3

การย้ายที่อยู่สถานประกอบการ ต้องยื่นเรื่องขอแก้ไขโครงการที่กองบริหารการลงทุน 1 - 5 ที่กำกับดูแลประเภทกิจการของบริษัท

ทั้งนี้ บริษัทต้องเตรียมเอกสารแจ้งการย้ายที่อยู่สถานประกอบการ ดังนี้

1. จดหมายชี้แจง (บริษัทท่านจะต้องเป็นผู้ทำจดหมายชี้แจงของบริษัท) โดยต้องระบุสาระสำคัญ คือ เลขที่บัตรส่งเสริม ที่อยู่เดิม และที่อยู่ใหม่ ของสถานที่ตั้งสำนักงาน

2. กรอกแบบคำขออนุญาตเปลี่ยน/เพิ่ม/ลด สถานที่ตั้งโรงงาน/สถานประกอบการ (F PA PC 03-07)

3. สำเนาหนังสือรับรองบริษัท (ฉบับใหม่/พร้อมลายเซ็นและประทับตราบริษัท)

4. บัตรส่งเสริมฉบับจริง

บริษัทได้รับอนุมัติเพิ่มกำลังผลิตโดยการเพิ่มเวลาการทำงานสำหรับโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว และหมดระยะเวลาการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว แต่ยังเหลือสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% จะได้รับสิทธิแค่ส่วนที่เหลือใช่หรือไม่
เช่น กำลังการผลิตต่อปี 100 ชิ้น เพิ่มเป็น 110 ชิ้น ก็นำมาใช้กับปีปัจจุบันไม่ย้อนหลัง แต่วงเงินภาษีเท่าเดิมใช่หรือไม่
การลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% ตามมาตรา 35(1) ไม่มีการกำหนดวงเงินการใช้สิทธิ แต่ต้องเป็นรายได้จากการผลิตตามเงื่อนไขในบัตรส่งเสริม (ชนิดผลิตภัณฑ์ กำลังผลิต เวลาทำงาน กรรมวิธีผลิต) เท่านั้น และจะเริ่มใช้สิทธิลดหย่อนได้หลังจากที่มาตรา 31 สิ้นสุดลง
ทางบริษัทได้รับหนังสือสั่งปล่อยแล้วแต่ปรากฏว่า เลขที่ใน IMP_line ผิด จึงต้องขอทำการยกเลิก แต่เวลาส่งไฟล์ birtcan.xls ทางระบบตอบว่าชื่อไฟล์ไม่ถูกต้อง จะต้องทำอย่างไร

ขั้นตอนคือ ส่งไฟล์ birtcan เพื่อยกเลิก และนำหนังสือสั่งปล่อยไปคืน IC จะนั้น IC จะตรวจสอบกับกรมศุลกากรว่ายังไม่ได้มีการนำเลขสั่งปล่อยไปใช้ แล้วจึงจะยกเลิกและคืนยอดให้ หากคีย์ไฟล์ถูกต้อง แต่ระบบแจ้งเตือนว่าคีย์ชื่อไฟล์ผิด และยื่นไม่ได้ ... ทางนี้ก็ไม่ทราบสาเหตุเหมือนกัน อาจต้องติดกับ IC เพื่อแจ้งปัญหาโดยตรง หรือหากสะดวกจะแคปหน้าจอส่งมา จะช่วยตรวจสอบให้อีกทางหนึ่ง

เนื่องจากบริษัทมีนำเข้าชิ้นส่วนแม่พิมพ์โดยใช้สิทธิ BOI มาผลิตแม่พิมพ์ และเก็บเงินค่าแม่พิมพ์จากลูกค้า และผลิตงานขายให้ลูกค้า จน หมดรุ่น และต่อมาทางลูกค้าต้องการให้ทำลายแม่พิมพ์ ได้ปรึกษากับทางเจ้าหน้าที่ BOI ทางเจ้าหน้าที่บอกว่าถ้าก่อน 5ปี ต้องมีการดำเนินการให้ได้ใบ certificate จากการInspection อย่างเช่น SGS แต่ทางลูกค้าต้องการทำลายก่อน และอยากทราบค่าใช้จ่ายในการทำลายแแม่พิมพ์ ในกรณีนี้เราจะทราบได้อย่างไร

ข้อเท็จจริง

A ได้รับส่งเสริมผลิตแม่พิมพ์ และชิ้นงานโลหะ โดย A นำเข้าชิ้นส่วนแม่พิมพ์จากต่างประเทศมาผลิตเป็นแม่พิมพ์ แล้วจำหน่ายแม่พิมพ์ให้กับ B แต่แม่พิมพ์ยังอยู่ที่โรงงานของ A เพื่อใช้ผลิตชิ้นส่วนโลหะจำหน่ายให้ B

คำถาม

หาก B ต้องการทำลายแม่พิมพ์ จะต้องดำเนินการอย่างไร

คำตอบ

B ซื้อแม่พิมพ์จาก A โดยไม่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรอะไร เนื่องจากเป็นการซื้อแม่พิมพ์จากโรงงานในประเทศ หาก B ต้องการทำลายแม่พิมพ์ ก็ทำลายได้โดยไม่ต้องแจ้ง BOI

กรณีที่ B ทำลายแม่พิมพ์ก่อนวันตรวจเปิดดำเนินการ B จะนำมูลค่าแม่พิมพ์มาคำนวณเป็นขนาดการลงทุนเพื่อใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ได้ A ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร เพราะ A ยืมแม่พิมพ์ของ B มาผลิตชิ้นงานให้กับ B (หาก B สั่งให้ A ทำลายแม่พิมพ์ A ก็จะเรียกค่าใช้จ่ายในการทำลายจาก B)

กรณีนี้ ไม่น่ามีประเด็นเรื่องการตรวจสอบโดย inspector เพราะเป็นแม่พิมพ์ที่ผลิตในประเทศ ไม่ใช่แม่พิมพ์ที่นำเข้าโดยใช้สิทธิมาตรา 28 หรือ 29

B เป็นลูกค้า ซึ่งอยู่ต่างประเทศ A นำเข้าส่วนประกอบจากญี่ปุ่นโดยใช้สิทธิยกเว้นภาษี (นำเข้ามาโดยระบบ emt online) ซึ่งนำชิ้นส่วน เข้ามาประเทศไทยเมื่อปี 2012 เพื่อประกอบเป็นแม่พิมพ์ และในปีนี้ทางลูกค้าแจ้งให้ทำลายเนื่องจากหมดรุ่นผลิตแล้ว จึงอยากทราบว่าจะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

บัตรส่งเสริมทุกฉบับ กำหนดเงื่อนไขทั่วไป ข้อ 3.3 ไว้ว่า "จะต้องไม่จำนอง จำหน่าย โอน ให้เช่า หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้เครื่องจักรที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้า"

กรณีที่สอบถาม บริษัท A จำหน่ายแม่พิมพ์ที่นำเข้ามาโดยใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้า ให้กับบริษัท B โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงน่าจะกระทำผิดต่อเงื่อนไขในบัตรส่งเสริมแล้ว

นำเข้าวัตถุดิบโดยการใช้สิทธิ BOI และได้รับการอนุมัติเลขที่สั่งปล่อยเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้น Shipping เดินพิธีการนำเข้า โดยจ่ายภาษีตัวที่สั่งปล่อยไปแล้ว เพราะเข้าใจผิดคิดว่า เป็นการนำเข้าแบบจ่ายภาษีปกติ และทางบริษัทต้องการ จะขอภาษีคืนภาษี ที่ทาง shipping จ่ายไป ต้องทำอย่างไรบ้าง
ให้ดำเนินการตามนี้

1.ยกเลิกหนังสือสั่งปล่อย โดยทำหนังสือนำส่ง และนำหนังสืออนุมัติสั่งปล่อยต้นฉบับที่ยังไม่ได้นำไปเดินพิธีการ ไปยื่นยกเลิกที่ IC และ IC จะคืนยอดสั่งปล่อยตามจำนวนในหนังสือฉบับนั้นให้

2.ยื่นสั่งปล่อยคืนอากร เพื่อขอคืนอากรสำหรับวัตถุดิบที่ได้ชำระไปแล้ว แต่จะได้รับคืนเฉพาะอากรขาเข้าเท่านั้น ส่วน VAT เข้าระบบไปแล้ว จึงเป็นการคืนภาษีตามระบบภาษีขาย-ภาษีซื้อ ตามปกติต่อไป ทั้งนี้ ใบขนที่จะยื่นขอคืนอากรได้ จะต้องไม่เกิน 2 ปีนับจากวันนำเข้า

3.หลังจากได้รับอนุมัติสั่งปล่อยคืนอากร ก็ให้นำเอกสารไปติดต่อกรมศุลกากร เพื่อขอรับคืนภาษีอากรต่อไป

ใช้สิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้ไม่เกินร้อยละ 50
บริษัทได้รับสิทธิลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของอัตราปกติ ต้องยื่นขอใช้สิทธิกับสำนักงานหรือไม่
การยื่นคำขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในระบบ E-Tax https://etax.boi.go.th/home/signin สำหรับการขอใช้สิทธิยกเว้นตามมาตรา 31 เท่านั้น ส่วนสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 ตามมาตรา 31(1) สามารถใช้สิทธิได้เลย ไม่ต้องยื่นขอใช้สิทธิในระบบ E-Tax และไม่ต้องยื่นเอกสารกับสำนักงาน
รวมบัตรส่งเสริม 2 บริษัทเข้าด้วยกัน: สอบถามเรื่องการควบกิจการ ขอยกตัวอย่างโดยใช้ชื่อ บริษัท A และ B A ได้สิทธิ เป็นประเภท A4 / และ B ได้สิทธิ เป็นประเภท A3 - A ได้ไปซื้อกิจการของ B โดยต่างฝ่ายไปจดทะเบียนควบบริษัท และ จะเกิดบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบบริษัท ชื่อบริษัท C - A จะส่งผลิตภัณฑ์บางส่วนให้ B (ผลิตภัณฑ์ของ A จะไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตของ B) - A และ B แยกผลิตภัณฑ์กันชัดเจน แยกเงินลงทุนของแต่ละโครงการชัดเจน แยกรายได้ชัดเจน คำถามคือ 1. ในการกรอกคำขอรับการส่งเสริม A สามารถระบุว่า B คือ ลูกค้า ได้หรือไม่ (ในอนาคตจะกลายเป็นบริษัทเดียวกัน) 2. หากควบรวมบริษัท กลายเป็นบริษัท C แล้ว A และ B จะต้องทำอย่างไรกับบัตรส่งเสริมที่มี
1. สามารถระบุว่าบริษัทตนเองเป็นลูกค้าได้ (เช่นเดียวกับกรณีของบริษัท X จะขอรับส่งเสริมขยายกิจการ เพื่อผลิตสินค้าจำหน่ายเป็นวัตถุดิบให้กับโครงการที่ 1 ของบริษัท X เอง)
2. เมื่อบริษัท A กับบริษัท B ควบรวมกิจการเป็นบริษัท C บัตรส่งเสริมของ A และ B จะสิ้นสุดใน 3 เดือนนับจากวันที่ควบรวมกิจการ

ในระหว่างนี้จึงจะต้องทำการโอนย้ายเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ใช้สิทธิประโยชน์ตามบัตรของ A และ B ไปยังบัตรส่งเสริมรับโอนกิจการที่ C ได้รับ

ขอสอบถามเพิ่มเติม กรณีที่ทั้งสองบริษัท A และ B มีผลิตภัณฑ์คนละชนิด line ผลิตคนละ line 
กรณีนี้ต้องแยกบัตรส่งเสริม เป็นคนละโครงการ ภายใต้ชื่อบริษัทเดียวกัน ถูกต้องหรือไม่

การยื่นคำขอรับส่งเสริมจากการควบรวมกิจการ ให้ยื่นแยกเป็นแต่ละคำขอ ตามโครงการนั้น ๆ เช่น ถ้า A มี 3 โครงการ B มี 2 โครงการ ก็ให้ยื่นเป็น 5 คำขอ ตามโครงการนั้น ๆ
บริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยได้แต่สิทธิเครื่องจักรและวัตถุดิบ แต่บริษัทยังไม่มีการนำเข้าวัตถุดิบตามที่ขอไว้ บริษัทต้องการรับจ้างผลิตให้กับบริษัทที่ได้ BOI - ต้องการทราบว่า การรับจ้างผลิต ต้องขออนุญาต BOI หรือไม่ - มีเงื่อนไข ข้อห้ามอะไรบ้าง แก่บริษัทที่รับจ้างผลิต ทั้งที่ได้ BOI และ NON-BOI

การรับจ้างผลิตสินค้าชนิดเดียวกับที่ระบุในบัตรส่งเสริม โดยมีขั้นตอนการรับจ้างผลิตตรงตามกรรมวิธีที่ได้รับส่งเสริม ถือว่าเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามโครงการ ไม่ต้องขออนุญาตจาก BOI ยกตัวอย่างเช่น บริษัทได้รับส่งเสริมผลิตมอเตอร์ โดยมีขั้นตอนการปั๊มขึ้นรูปชิ้นงานโลหะ และการพันขดลวด ฯลฯ หากมีบริษัทอื่นมาว่าจ้างให้ผลิตมอเตอร์ โดยเป็นการว่าจ้างครบขั้นตอน ก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต และใช้สิทธิทุกอย่างได้ตามปกติ

แต่หากเป็นการรับจ้างผลิตสินค้าคนละชนิด หรือรับจ้างผลิตไม่ครบขั้นตอน เช่น จะรับจ้างพันขดลวด จะต้องยื่นขออนุญาตจาก BOI ก่อน โดยเป็นการขออนุญาตใช้เครื่องจักรเพื่อการอื่น ซึ่งมีเงื่อนไขคือ

1. ต้องเปิดดำเนินการครบตามโครงการแล้ว

2. รายได้จากการรับจ้าง จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้

ขออภัยครับ ไม่มีข้อมูลส่วนนี้ ในภาษาที่ท่านเลือก !

Sorry, There is no information support your selected language !

Download และ ติดตั้งโปรแกรมอ่าน PDF

Download PDF Reader

Site map