Chat
x
toggle menu
toggle menu

Select Groups

All Group
  • All Group
  • นโยบายเเละมาตรการพิเศษในการส่งเสริม
  • การขอรับการส่งเสริมการลงทุน
  • การออกบัตรส่งเสริม
  • การเปิดดำเนินการ
  • การเเก้ไขโครงการ
  • การดำเนินการอื่น ๆ
  • การรายงานความคืบหน้าโครงการ (e-Monitoring)
  • การปฏิบัติหลังการได้รับการส่งเสริม
  • การยกเลิกบัตรส่งเสริม
  • เรื่องทั่วไป
  • การใช้สิทธิด้านที่ดิน
  • การใช้สิทธิด้านเครื่องจักร
  • การใช้สิทธิด้านช่างฝีมือ/ต่างด้าว
  • การใช้สิทธิด้านวัตถุดิบ
  • ประเภทกิจการ - การแพทย์
  • การใช้สิทธิด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล
  • ประเภทกิจการ - รถยนต์ไฟฟ้า
  • ประเภทกิจการ - ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC) IPO และ TISO
  • ประเภทกิจการ - โรงแรม
  • ประเภทกิจการ - ผลิตผลิตภัณฑ์โลหะรวมทั้งชิ้นส่วนโลหะ
  • ประเภทกิจการ - กิจการผลิตเครื่่องจักร อุุปกรณ์และชิ้นส่วน
  • ประเภทกิจการ - กิจการศูนย์กระจายสินค้าระหว่า ประเทศด้วยระบบที่่ทันสมัย (IDC)
การควบรวมกิจการ

เมื่อบริษัท A และบริษัท B ควบรวมกิจการเข้าด้วยกันเป็นบริษัทไม่ว่าจะใช้ชื่อเป็น A หรือ B หรือ C ก็ตาม ในทางกฎหมายถือเป็นคนละนิติบุคคลกับบริษัทเดิมที่ก่อนจะควบรวมกิจการ ดังนั้น บัตรส่งเสริมของบริษัท A และ B จึงจะสิ้นสุดอายุไปในเวลา 3 เดือนนับจากวันที่ควบรวมกิจการด้วยเช่นกัน

กรณีที่บริษัทที่เกิดขึ้นใหม่จากการควบรวมกิจการ ประสงค์จะเป็นผู้ได้รับส่งเสริมในกิจการเดิมของบริษัท A และ B จะต้องยื่นขอรับโอนกิจการจากบริษัท A และ B เช่นเดียวกับกรณีของการโอนและรับโอนกิจการข้างต้น

ทั้งนี้หากบริษัท C ที่คาดว่าจะขอรับการส่งเสริมเพื่อควบรวมกิจการยังไม่มีการจัดตั้ง ณ วันที่ยื่นขอรับการส่งเสริม สามารถยื่นขอในนามบุคคลธรรมดาได้ แต่ควรระบุชื่อบริษัทที่คาดว่าจะจัดตั้งในคำขอรับการส่งเสริมด้วย

บริษัท C จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมเพื่อขอรับโอนกิจการดังกล่าว โดยคณะกรรมการจะพิจารณาให้ได้รับสิทธิประโยชน์เท่าที่ยังเหลืออยู่เดิม

ขั้นตอนการขอรับโอนกิจการในกรณีที่ผู้รับโอนเป็นบริษัทที่เกิดใหม่จากการควบรวมกิจการ มีขั้นตอนและแนวทางพิจารณาเช่นเดียวกันกับการโอน – รับโอนกิจการตามปกติ

ข้อควรระวังในการควบรวมกิจการ

ควรจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมก่อนที่การควบรวมกิจการมีผล เนื่องจากผลกำไรของรายได้ที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากจากกิจการที่มีการควบรวมกิจการจะมีผลตั้งแต่วันอนุมัติขอรับการส่งเสริมควบรวมกิจการ

หากอนุมัติภายหลังหรือยื่นภายหลังเกิดการควบรวมกิจการแล้ว รายได้ในช่วงระหว่างยื่นเรื่องถึงวันก่อนอนุมัติจะไม่สามารถยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้

ยื่นโครงการปี 57 ค่ะ ถ้าเครื่องจักรไม่ถึง 1 ปี ต้องมีใบอนุญาตหรือไม่

ถ้าเป็นเครื่องจักรเก่าใช้แล้วจะกี่วันกี่เดือนก็ต้องขออนุญาต และต้องมีใบรับรองประสิทธิภาพ

ตามขั้นตอนการผลิตทั้ง 4 ตอนแล้ว บริษัทฯ ฉีดขึ้นรูปชิ้นงาน,ตัดตกแต่ง,ประกอบชิ้นงานเข้าด้วยกัน,ตรวจสอบแล้วส่งขาย ถ้าอย่างนี้ขั้นตอนการฉีดขึ้นรูปชิ้นงานเป็นตัวกำหนดกำลังการผลิตของโครงการใช่รึเปล่า

ปกติก็ควรเป็นเช่นนั้น แต่หากสินค้าของบริษัท ต้องทำการตรวจสอบ 100% ด้วยเครื่องจักรทันสมัย ขั้นตอนตรวจสอบก็อาจจะเป็นตัวกำหนดกำลังการผลิตของโครงการก็ได้ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของโครงการนั้นๆ ด้วย

1) เครื่องจักรใหม่ที่ซื้อในประเทศ คือเครื่องจักรที่ซื้อก่อนวันที่ได้รับอนุมัติโครงการ แต่ไม่ก่อนวันที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมฯ ถูกต้องหรือเปล่า และมูลค่าที่ต้องใส่คืนยอดรวมภาษี7% ใช่หรือไม่ 2) วัตถุดิบที่ซื้อในประเทศ ต้องพิจารณาอย่างไร (ทางบริษัทฯ ยังไม่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ)

1) เครื่องจักรที่ซื้อใหม่ในประเทศ สามารถนับได้ตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริม จนถึงวันที่ครบกำหนดยื่นรายงาน โดยให้รวม vat ด้วย

2) วัตถุดิบที่ซื้อในประเทศ จะนับจากวันที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมก็ได้ แต่ถ้ายังไม่มีการซื้อวัตถุดิบ ก็กรอกเป็น 0

เนื่องจากบริษัท ฯ ได้รับบัตรส่งเสริมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ข้อความที่ระบุ ประเภท กิจการ ภาษาไทย / อังกฤษ ไม่ตรงกัน ภาษาไทย กิจการผลิตลวดเหล็กและเพลาเหล็ก ภาษาอังกฤษ CARBON & STAINLESS STEEL WIRE AND BAR ซึ่งต้องได้แก้ไข ข้อความภาษาไทย เป็นกิจการผลิต เหล็ก และ ลวดและเพลาสแตนเลส ไม่ทราบว่าบริษัท ฯ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ไหม และต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

ถ้าชื่อภาษาไทย/อังกฤษ ของประเภทกิจการในบัตรส่งเสริมไม่ตรงกัน ควรแก้ไขให้ถูกต้อง แต่ไม่มีแบบฟอร์มสำหรับการแก้ไขกรณีนี้เป็นการเฉพาะ จึงควรปรึกษาเจ้าหน้าที่ BOI ผู้วิเคราะห์โครงการนี้ว่า จะให้ยื่นเป็นหนังสือบริษัทเพื่อขอแก้ไข หรือจะให้ใช้แบบฟอร์มแก้ไขโครงการ(กรณีปกติ)

บริษัทยื่นกรอกรายละเอียดตอนได้บัตรส่งเสริมว่าจะก่อสร้างอาคารเอง ไม่ได้เช่า และก็ได้สร้างโรงงานขึ้นจริง แต่หลังจากได้บัตรมาแล้วประมาณ 2 ปีกว่า และจะยื่นเปิดดำเนินการในปีหน้า บริษัทจำเป็นต้องขายอาคาร โดยจะเปลี่ยนเป็นการเช่าแทน - ถ้าขายก่อนเปิดโครงการ จะมีผลอย่างไร และต้องทำเรื่องขออนุญาตหรือไม่ - และถ้าขายหลังเปิดโครงการ จะมีผลอย่างไร และต้องทำเรื่องขออนุญาตก่อนหรือไม่

1. การขายโรงงานก่อนเปิดดำเนินการ โดยเปลี่ยนเป็นการเช่า ไม่ต้องขออนุญาตจาก BOI แต่มูลค่าก่อสร้างที่ได้ลงทุนไปแล้ว ไม่สามารถนำมานับเป็นเงินลงทุนของโครงการได้ เนื่องจากในวันเปิดดำเนินการ บริษัทได้จำหน่ายโรงงานไปแล้ว จึงจะนับค่าเช่าตามสัญญาที่มากกว่า 3 ปี เป็นขนาดการลงทุนแทน

2. การขายโรงงานหลังเปิดดำเนินการ ไม่ต้องขออนุญาตจาก BOI และค่าก่อสร้างที่ได้นับเป็นขนาดการลงทุนไปแล้วในวันเปิดดำเนินการ ก็จะไม่ลดลง แม้จะขายโรงงานออกไปก็ตาม

ตามประกาศที่ 1/2564 การติดตั้งโซลาร์เซลล์ หากมีขนาดการลงทุนน้อยกว่า 1 ล้านบาท จะเข้าข่ายได้รับส่งเสริม ต้องเข้าข่ายข้อ 2.4.1 และ 2.4.2 แต่หากเกิน 1 ล้านบาท ก็ไม่จำเป็นต้องมีข้อ 2.4.1 และ 2.4.2 ใช่หรือไม่ หากต้องการจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ (สมมติว่าเกิน 1 ล้านบาท) สำหรับโครงการเดิมที่สิทธิและประโยชน์การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลยังไม่สิ้นสุด (เหลืออีก 5 ปี) และสำหรับโครงการใหม่ที่กำลังจะยื่นคำขอในปีนี้ แสดงว่าสิทธิประโยชน์ของโซลาร์เซลล์จะใช้ได้เฉพาะกับโครงการใหม่ และสิทธิเรื่องภาษีเงินได้จะใช้ได้ 3 ปี หลังจากเริ่มมีรายได้ครั้งแรกจากโครงการใหม่ใช่หรือไม่

ตอบคำถามดังนี้

1. หากมีขนาดการลงทุนเกินกว่า 1 ล้านบาท ไม่ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 2.4 ของประกาศ

2. มาตรการตามประกาศ กกท ที่ 1/2564 ใช้กับกิจการที่ดำเนินการอยู่แล้ว ดังนั้น หากบริษัทจะลงทุนเพื่อขยายกิจการ (ยื่นคำขอเป็นโครงการใหม่) จะไม่เข้าข่ายตามประกาศ กกท ที่ 1/2546
แต่จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุน ตาม ประกาศ กกท ที่ 2/2557


Q5.1:

หมายความว่าหากบริษัททจะขอขยายโครงการใหม่ ก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ใช่หรือไม่

A5.1:

หากยื่นขอรับส่งเสริมเป็นโครงการใหม่ การลงทุนในส่วนของ Solar Roof จะนับเป็นการลงทุนเครื่องจักรที่จะนำมาคำนวณเป็นขนาดการลงทุนของโครงการได้ แต่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประเภทกิจการที่ยื่นขอรับส่งเสริม ว่าเข้าข่ายกิจการในประเภท A ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้หรือไม่


Q5.2:

หมายถึงหากเป็นกิจการประเภท A จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เพิ่มเติมจากตัวโครงการ แต่หากเป็นประเภท B ที่ไม่ได้รับยกเว้นเงินได้จากตัวโครงการ ก็จะไม่ได้รับยกเว้นเงินได้จากตัวโซลาร์เซลล์ใช่หรือไม่

A5.2:

1. หากเป็นกิจการในประเภท A จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 3 - 8 ปี โดยมูลค่าการลงทุน Solar Roof ทั้ง 100% จะถูกนับรวมเป็นขนาดการลงทุนของโครงการ (และรวมกับมูลค่าการลงทุนค่าก่อสร้าง และเครื่องจักรอื่นๆ) เพื่อกำหนดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่หากเป็นมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ จะได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้ เพียงแค่ 50% ของมูลค่าการลงทุนของ Solar Roof

2. หากเป็นกิจการในประเภท B จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ทั้งในส่วนของการยื่นขอรับส่งเสริมเป็นโครงการขยาย หรือยื่นขอรับส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ


Q5.3:

สำหรับโครงการที่สิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้แล้ว จึงจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 50% ของเงินลงทุน ในที่นี้คือเงินลงทุนทั้งหมดหรือเงินลงทุนค่าโซลาร์เซลล์

หากเป็นโครงการเดิมที่ยังไม่หมดภาษีเงินได้ไม่สามารถขอยื่นปรับปรุงประสิทธิภาพได้ แต่สามารถนำเข้าโซลาร์เซลล์โดยใช้สิทธิยกเว้นภาษีเครื่องจักรได้ใช่หรือไม่

การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ หากจะนำมาใช้กับโครงการเดิม (ที่ยังเหลือสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ 50% อีก 5 ปี) สามารถขอรับการส่งเสริมได้หรือไม่

A5.3:

ตอบคำถามดังนี้

1. การลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี เป็นสัดส่วน 50% ของเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน เฉพาะเงินลงทุนในการปรับปรุง

2. หากโครงการเดิมยังไม่สิ้นสุดการยกเว้นภาษีเงินได้ จะขอรับการส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพไม่ได้ แต่หากโครงการเดิมยังไม่ครบกำหนดเปิดดำเนินการ บริษัทสามารถลงทุนโซลาร์เซลล์ และนำมูลค่าการลงทุนนั้นมารวมคำนวณเป็นมูลค่าการลงทุนของโครงการ เพื่อปรับเปลี่ยนวงเงินที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ภายใต้โครงการเดิมได้

3. มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตามประกาศ กกท ที่ 4/2564 จะต้องเป็นโครงการที่สิ้นสุดสิทธิการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว


Q5.4:

ตามคำตอบข้อ 2 ข้างต้น ไม่ทราบว่าสามารถได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าโซลาร์เซลล์ไหม (ทั้งกรณีเปิดดำเนินการแล้วและยังไม่ได้เปิด)

A5.4:

หากยังมีระยะเวลานำเข้าเครื่องจักรเหลืออยู่ สามารถขอแก้ไขบัญชีรายการเครื่องจักรเพื่อนำเข้า โซลาเซลล์ได้

กรณีติดโซล่าเซลล์ที่คลังสินค้าซึ่งอยู่คนละที่กับโรงงานผลิต โดยได้สิทธิ์ตามมาตรา 27 ทั้งหมด บริษัทสามารถนำบัตรกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของโรงงานผลิตไปขอรับการส่งเสริมการติดโซล่าเซลล์ที่คลังสินค้าได้หรือไม่

หากคลังสินค้านั้นใช้เฉพาะกิจการที่ได้รับส่งเสริมตามโครงการนั้น การติดตั้งโซลาเซลล์ที่คลังสินค้า ก็เข้าข่ายมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพตามประกาศ

ถ้าหากเงินลงทุนที่เรายื่นตอนขอเปิดดำเนินการ มีมูลค่าแตกต่างจากตอนยื่นคำร้องขอบัตรฯ ค่อนข้างมาก ทางบีโอไอจะปรับขนาดการลงทุนให้เราไหม จะใช้หลักการเดียวกันกับการปรับกำลังการผลิตของเครื่องจักรหรือไม่

หากเงินลงทุนในขั้นเปิดดำเนินการ มีมูลค่าแตกต่างจากตอนยื่นคำร้องขอรับการส่งเสริม จะแก้ไขวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่กำหนดไว้ในบัตรส่งเสริม ให้เป็นไปตามมูลค่าที่ลงทุนที่แท้จริงในวันเปิดดำเนินการ ไม่ว่าจะแตกต่างกันมากหรือน้อยเพียงใด

ในการแจ้งยืนยันการดำเนินการตามโครงการ ต้องยื่นออนไลน์ ซึ่งต้องขอ Username Password ขอเรียนถามว่า 1) สามารถขอ Username Password ที่แหลมฉบังได้หรือไม่ 2) แบบฟอร์มของหนังสือมอบอำนาจ ดูได้จากที่ไหน 3) หนังสือรับรองของบริษัท ใช้ทุกหน้าใช่หรือเปล่า และต้องเซ็นรับรองเอกสารด้วยหรือไม่

1) สามารถขอรับได้ที่ สนง BOI ทุกแห่ง (นำเอกสารไปยื่น และรอรับได้เลย)

2) หนังสือมอบอำนาจไม่มีแบบฟอร์มเฉพาะ สามารถใช้รูปแบบทั่วไปที่มีให้โหลดในเน็ตได้

3) หนังสือรับรอง ใช้เฉพาะหน้าแรกหน้าเดียว โดยให้ลงนามรับรองและประทับตราด้วย รายละเอียดอื่นๆ ดูได้จาก

[http://doctracking.boi.go.th/doctrack-ts310.pdf] ตามเอกสาร 1.1 - 1.4

เนื่องจากบริษัทมีรอบบัญชี 1 ต.ค.57-30 ก.ย.58 บัดนี้ได้ยื่นเรื่องเปิดดำเนินการไปวันที่ 27 ก.ค. 58 และทางเจ้าหน้าที่ได้ไปเปิดตรวจที่โรงงาน ณ วันที่ 24 ก.ย. 58 บริษัทอยากทราบว่าใบอนุญาตเปิดดำเนินการจะระบุวันที่ตรง "เปิดดำเนินการได้ตามโครงการตั้งแต่วันที่......" เป็นวันไหน เนื่องจากบริษัทจะได้คำนวณเงินเพื่อยื่น ม.31 ได้ถูกต้องตามรอบบัญชีปีนี้

ในใบอนุญาตเปิดดำเนินการ จะระบุเพียงแค่ว่า "อนุญาตให้เปิดดำเนินการได้ ตามใบอนุญาตเลขที่ ....... ลงวันที่ ........." โดยไม่มีการระบุว่า ให้เปิดดำเนินการได้ตั้งแต่เมื่อใด ส่วนในการเริ่มใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 31 นั้น กำหนดไว้ตาม พรบ. และเงื่อนไขในบัตรส่งเสริมอยู่แล้ว คือ "ตั้งแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับส่งเสริม" ซึ่งวันที่เริ่มมีรายได้ ซึ่งสามารถเริ่มใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นี้ ปกติจะเป็นวันก่อนที่จะออกใบอนุญาตเปิดดำเนินการอยู่แล้ว

วันเริ่มใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ให้ยึดตามวันที่เริ่มมีรายได้ครั้งแรกตามโครงการ โดยไม่ต้องอิงกับวันที่ในใบอนุญาตเปิดดำเนินการ เช่น ถ้าในปีที่ 1 บริษัทเริ่มมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าตามโครงการ ก็ให้เริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่มีรายได้นั้น ส่วนใบอนุญาตเปิดดำเนินการ อาจจะออกตามหลังมาอีก 3 ปี ก็ไม่เป็นไร เพราะใบอนุญาตเปิดดำเนินการในความหมายของบีโอไอ ไม่ใช่ออกเพื่ออนุญาตให้บริษัทเริ่มประกอบกิจการได้ แต่เป็นการออกเพียงการยืนยันว่า บริษัทมีการลงทุนครบตามโครงการที่ได้รับส่งเสริม

สอบถามเรื่องการซื้อเครื่องจักรภายในประเทศ บริษัทสามารถซื้อได้เลยรึเปล่า และจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องใช้สิทธิ BOI สามารถนำเครื่องจักรที่ไม่ได้ใช้สิทธิ BOI มาใช้ร่วมโครงการของ BOI ได้หรือไม่

สามารถซื้อเครื่องจักรในประเทศได้ โดยไม่ต้องระบุไว้ในโครงการ และไม่ต้องขออนุญาต แต่จะต้องเป็นเครื่องจักรใหม่เท่านั้น

ไม่สามารถนำเครื่องจักรที่ไม่ได้ใช้สิทธิ มาใช้ร่วมในโครงการ BOI เพราะเท่ากับเป็นการใช้เครื่องจักรเก่าในประเทศ ซึ่งผิดเงื่อนไขในการให้ส่งเสริม

การจัดการสิทธิและประโยชน์ หากต้องการยกเลิกบัตรส่งเสริม

ผู้ได้รับส่งเสริมสามารถขอยกเลิกบัตรส่งเสริมในเวลาใดก็ได้ โดยหลักประกัน การคุ้มครอง และสิทธิประโยชน์ทั้งหมดจะสิ้นสุดลงในวันที่ได้รับอนุมัติให้ยกเลิกบัตรส่งเสริม

กรณีที่ได้รับส่งเสริมนำเครื่องจักรและวัตถุดิบเข้ามาโดยการยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้า แต่ต่อมาได้รับอนุมัติให้เลิกบัตรส่งเสริม เครื่องจักรที่มีอายุมากกว่า 5 ปี นับจากวันที่นำเข้าจะไม่มีภาระภาษีอาการขาเข้า ทั้งนี้จะต้องดำเนินการตามที่ สำนักงานกำหนด สำหรับวัตถุดิบที่นำเข้า ขอให้บริษัทชำระภาษีอากรขาเข้า หรือส่งออกไปต่างประเทศ ให้เรียบร้อย

กรณีที่ผู้ได้รับส่งเสริมเป็นนิติบุคคลต่างด้าว และใช้สิทธิและประโยชน์ในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน ผู้ได้รับส่งเสริมจะต้องจำหน่ายที่ดินดังกล่าวภายใน 1 ปีนับจากวันที่ได้รับอนุมัติให้ยกเลิกบัตรส่งเสริม

กรณีที่ผู้ได้รับส่งเสริมไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญในการให้การส่งเสริมได้ เช่น มีขนาดการลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนต่ำกว่า 1 ล้านบาท หรือมีกรรมวิธีการผลิตไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม และทำให้มูลค่าเพิ่มของโครงการต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ผู้ได้รับส่งเสริมจะถูกเพิกถอนบัตรส่งเสริม

ในกรณีที่ถูกเพิกถอนบัตรส่งเสริม ผู้ได้รับส่งเสริมอาจถูกเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ทั้งหมดเสมือนว่าไม่เคยได้รับส่งเสริมมาตั้งแต่ต้น ซึ่งจะต้องทำให้เสียภาษีอากรเครื่องจักรและวัตถุดิบย้อนหลังตามสภาพ ณ วันนำเข้า พร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ ซึ่งรวมถึงการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังอีกด้วย

โรงงานผลิตสินค้า (Fabric)ไทย ส่งออกไปขายยังกัมพูชา แบบใช้สิทธิ BOI ขาออก แต่สินค้าไม่ได้คุณภาพทางกัมพูชาจึงตีกลับ คำถามคือ โรงงานผลิตสินค้าที่เมืองไทย จะสามารถนำเข้าสินค้าตัวเดิมโดยใช้สิทธิ BOI ได้หรือไม่ และทางกัมพูชาจำเป็นต้องออกหนังสือยืนยันสินค้าไม่ได้คุณภาพหรือไม่

การนำสินค้าที่ส่งไปจำหน่ายต่างประเทศกลับเข้ามาซ่อม สามารถขอใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 36(1) ได้ โดยมีเงื่อนไขคือ

1. ต้องเป็นสินค้าที่บริษัท BOI ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ

2. ชื่อสินค้าและโมเดลที่นำกลับเข้ามาซ่อม ต้องเป็นชื่อสินค้าและโมเดลเดียวกับที่ส่งออก และได้รับอนุมัติสูตรการผลิต

3. ต้องเป็นสินค้าที่สามารถซ่อมแซมเพื่อส่งกลับออกไปใหม่ได้

4. เมื่อซ่อมแซมเสร็จแล้วต้องส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ

5. ให้ยื่นขออนุมัติ Max Stock ในข่ายสินค้านำกลับเข้ามาซ่อม

6. จะยกเว้นอากรขาเข้าให้เฉพาะสินค้าที่นำเข้ามาซ่อมเท่านั้น โดยจะไม่ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ใช้ไปในการซ่อมสินค้านั้นๆ

ในกรณีที่นำเข้าผลิตภัณฑ์เพื่อกลับมาซ่อมแซม ต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ต้องชำระอากรขาเข้า และหากสามารถทำได้ ระหว่างที่ดำเนินการยังไม่เรียบร้อย สามารถชำระอากรแล้วสงวนสิทธิ์ไว้ก่อนได้หรือไม่

ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ สามารถขอนำกลับเข้ามาซ่อมเพื่อส่งกลับออกไปอีกครั้งหนึ่ง โดยจะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับผลิตภัณฑ์นั้น แต่จะไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับชิ้นส่วนที่ใช้การซ่อม

ขั้นตอนคือ

1. ยื่นขอแก้ไขบัญชีปริมาณสต๊อก เพื่อเพิ่มรายการผลิตภัณฑ์ที่นำกลับเข้ามาซ่อม ขออนุมัติปริมาณสต๊อกได้ไม่เกิน 10% ของกำลังผลิตตามบัตรส่งเสริม

Project Code ใช้เป็นมาตรา 36(1) แบบหมุนเวียน คือ xxxxxx11

Group No. ให้เริ่มต้นจาก R00001 ไปตามลำดับ

ชื่อหลัก ให้ใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ตามบัตรส่งเสริม หรือผลิตภัณฑ์ที่ส่งออก

ชื่อรอง ให้ใช้ตามผลิตภัณฑ์ที่จะนำกลับเข้ามาซ่อม

2. เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว นำไปบันทึกฐานข้อมูลที่ IC จากนั้น ยื่นสั่งปล่อยเช่นเดียวกับขั้นตอนปกติ

3. ยื่นขออนุมัติสูตรการผลิตจาก BOI จากนั้นนำไปบันทึกฐานข้อมูลที่ IC

สูตรจะต้องเป็น 1 ต่อ 1 เท่านั้น จะไม่อนุมัติรายการวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ใช้เพื่อการซ่อม

ยื่นตัดบัญชีหลังจากส่งผลิตภัณฑ์ที่ซ่อมเสร็จแล้วออกไปต่างประเทศ ระหว่างที่ยื่นแก้ไขบัญชีปริมาณสต๊อก สามารถชำระภาษีสงวนสิทธิ์ได้เช่นเดียวกับกรณีการสงวนสิทธิ์วัตถุดิบรายการอื่นๆ

การยื่นขอเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้ง จะต้องยื่นก่อนออกบัตร หรือ ต้องออกบัตรมาก่อนแล้วจึงยื่น

สามารถทำได้ทั้ง 2 วิธี คือจะแก้ไขที่ตั้งสถานประกอบการก่อนออกบัตรหรือหลังออกบัตรก็ได้ แต่หากยื่นเอกสารประกอบการขอออกบัตรส่งเสริมไปแล้ว ควรรอให้ขั้นตอนการออกบัตรเสร็จสิ้นก่อน จึงยื่นขอแก้ไขสถานที่ตั้ง

กรณีที่บริษัทฯ นำเครื่องจักรที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่มีอายุทั้งที่เกิน 10 ปี และไม่เกิน 10 ปี มาใช้ร่วมกับบัตรโครงการใหม่ บริษัทฯ ต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง

การนำเครื่องจักรของโครงการ 1 ไปใช้ในโครงการ 2 เป็นการปฏิบัติเงื่อนไขทั้งโครงการ 1 และโครงการ 2 คือ

โครงการ 1 ผิดเงื่อนไข คือนำเครื่องจักรที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีอากร ไปใช้งานนอกเหนือกิจการตามบัตรส่งเสริมฉบับนั้น

โครงการ 2 ผิดเนื่องจากไม่มีการลงทุนตามโครงการ แต่นำเครื่องจักรที่มีอยู่แล้วมาสวมสิทธิในการผลิตเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ ฯลฯ

แต่หากเป็นเครื่องจักรบางรายการที่ไม่มีผลกับกำลังผลิต เช่น แม่พิมพ์ อยู่ในข่ายที่สามารถใช้ร่วมกันได้ แต่เป็นการยอมรับในทางปฏิบัติเท่านั้น ซึ่งหากจะทำให้ถูกต้องจริงๆ อาจจะต้องยื่นหนังสือขอใช้แม่พิมพ์ของโครงการที่ 1 และ 2 ร่วมกัน

อ้างถึงแบบฟอร์ม F PM OP 01-06 คำถาม 1. ตามข้อ 2 รายละเอียดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ติดตั้งใช้ในโครงการ หากบริษัทมีเครื่องจักรที่ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับการส่งเสริมอยู่ในโครงการด้วย จะต้องระบุด้วยหรือไม่ 2. ตามข้อ 5.3 ขนาดการลงทุนของโครงการ การกรอกมูลค่าในช่อง (B) กรณีบริษัทเปิดดำเนินการสำหรับโครงการที่ประสบอุทกภัย จะต้องกรอกข้อมูลในกรณีโครงการริเริ่ม ใช่หรือไม่

เครื่องจักรที่ไม่ได้รับส่งเสริม คืออะไร

ก. เครื่องจักรที่นำเข้ามาโดยไม่ได้ใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้า

ข. เครื่องจักรที่ผิดเงื่อนไขตามบัตรส่งเสริม (เช่น เครื่องจักรเก่าที่ไม่มีใบรับรองประสิทธิภาพ หรือเครื่องจักรเก่าซื้อในประเทศ เป็นต้น)

ตอบคำถาม

1. หากเป็นเครื่องจักรตามข้อ ก. ก็ต้องระบุด้วย มิฉะนั้น กรรมวิธีการผลิตหรือกำลังผลิตอาจไม่ครบตามบัตรส่งเสริม แต่หากเป็นข้อ ข. จะระบุหรือไม่ ก็มีปัญหา เพราะกำลังทำผิดเงื่อนไขในการส่งเสริม

2. ช่อง 5.3 เป็นการกรอกมูลค่าการลงทุนเพื่อนำไปกำหนดวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ถ้าเป็นโครงการริเริ่ม จะนับค่าสินทรัพย์ และค่าใช้จ่ายก่อนเปิดดำเนินการ เป็นขนาดการลงทุนได้ด้วย แต่ต้องเป็นโครงการขยาย จะนับได้เฉพาะค่าเครื่องจักร และค่าก่อสร้างส่วนที่เพิ่มเติม ในบัตรส่งเสริมระบุเงื่อนไขไว้อย่างไร และประเด็นที่สอบถามคืออะไร ขอรายละเอียดอีกหน่อย

แบบฟอร์มแบบแจ้งยืนยันการดำเนินการตามโครงการ 6m/1Y/2Y ไม่ทราบว่าต้องส่งที่ไหน ถ้าบริษัทอยู่ที่จังหวัดตรัง

การยืนยันการดำเนินการตามโครงการ ให้ยื่นผ่านระบบงานตรวจสอบทางอินเตอร์เน็ต https://boieservice.boi.go.th/PM/ โดย user ID และ password เป็นอันเดียวกับระบบตรวจสอบเอกสารทางอินเตอร์เน็ต (http://doctracking.boi.go.th/) แต่หากยังไม่มี user ID ให้ติดต่อขอรับได้ที่ BOI ทุกแห่ง รายละเอียดตาม Link : http://doctracking.boi.go.th/doctrack-ts310.pdf

กรณียื่นขอรับส่งเสริมออนไลน์ ผ่านระบบ e-Investment Promotion ยื่นในนามบุคคล และตอบรับมติในนามบุคคลเรียบร้อยแล้วในระบบขึ้นสถานะขอรับการส่งเสริม ขั้นตอนต่อไปคือ ออกบัตรส่งเสริม ซึ่งทางบริษัทฯ ยังไม่สามารถจัดตั้งนิติบุคคลได้ตามกำหนด จึงรบกวนสอบถาม ขั้นตอนยื่นขอออกบัตรส่งเสริมมีระยะเวลากำหนดต้องยื่นภายในกี่วัน บริษัทฯ สามารถขยายตอบรับมติได้ไหม

หลังจากตอบรับมติการให้การส่งเสริมแล้ว จะต้องยื่นเอกสารเพื่อขอออกบัตรส่งเสริมภายใน 6 เดือนหลังวันที่ตอบรับมติ โดยสามารถขยายเวลาการยื่นเอกสารฯ ได้ 3 ครั้ง ครั้งละ 4 เดือน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.boi.go.th/index.php?page=before_promo_get_cert

ขออภัยครับ ไม่มีข้อมูลส่วนนี้ ในภาษาที่ท่านเลือก !

Sorry, There is no information support your selected language !

Download และ ติดตั้งโปรแกรมอ่าน PDF

Download PDF Reader

Site map