Chat
x
toggle menu
toggle menu

Select Groups

All Group
  • All Group
  • นโยบายเเละมาตรการพิเศษในการส่งเสริม
  • การขอรับการส่งเสริมการลงทุน
  • การออกบัตรส่งเสริม
  • การเปิดดำเนินการ
  • การเเก้ไขโครงการ
  • การดำเนินการอื่น ๆ
  • การรายงานความคืบหน้าโครงการ (e-Monitoring)
  • การปฏิบัติหลังการได้รับการส่งเสริม
  • การยกเลิกบัตรส่งเสริม
  • เรื่องทั่วไป
  • การใช้สิทธิด้านที่ดิน
  • การใช้สิทธิด้านเครื่องจักร
  • การใช้สิทธิด้านช่างฝีมือ/ต่างด้าว
  • การใช้สิทธิด้านวัตถุดิบ
  • ประเภทกิจการ - การแพทย์
  • การใช้สิทธิด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล
  • ประเภทกิจการ - รถยนต์ไฟฟ้า
  • ประเภทกิจการ - ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC) IPO และ TISO
  • ประเภทกิจการ - โรงแรม
  • ประเภทกิจการ - ผลิตผลิตภัณฑ์โลหะรวมทั้งชิ้นส่วนโลหะ
  • ประเภทกิจการ - กิจการผลิตเครื่่องจักร อุุปกรณ์และชิ้นส่วน
  • ประเภทกิจการ - กิจการศูนย์กระจายสินค้าระหว่า ประเทศด้วยระบบที่่ทันสมัย (IDC)
การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากิจการ IHQ และ ITC ของกรมสรรพากรระบุว่า หากชาวต่างชาติที่ปฏิบัติงาน มีรายได้สุทธิมากกว่า 2 แสนบาทต่อเดือน พำนักอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 180 วัน จะสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (อัตราคงที่ 15%) กิจการ IBC มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ อย่างไร

ไม่เปลี่ยนแปลง

"กรณีนี้บริษัทสามารถนำผลขาดทุนของปีที่ 1-3 ไปหักจากกำไรสุทธิของปีที่ 9-13 ได้" 1. เช่น สมมุติบริษัท ได้สิทธิยกเว้นภาษี 8 ปี รวม 100 ล้านบาท ปีที่ 1-3 ขาดทุนรวม 10 ล้าน ปีที่ 4-8 ได้กำไร 70 ล้าน บริษัทใช้สิทธิยกเว้นภาษีไปทั้งหมด 70 ล้าน เหลือวงเงิน 30 ล้าน ต่อมา ปีที่ 9 ได้กำไร 15 ล้าน จริงๆ ต้องชำระภาษีเต็มจำนวน แต่ ได้สิทธิ 31 วรรค 4 เลยเอาขาดทุนปีที่ 1-3 ไปหักลบ 10 ล้าน เหลือต้องชำระภาษี 5 ล้าน แบบนี้ถูกต้องไหม 2. กรณีนี้บริษัท ต้องยื่นแบบขอใช้สิทธิไปที่ BOI ให้อนุมัติก่อน (ยื่นเหมือนกรณีปกติ) หรือไม่
1.เข้าใจถูกต้องแล้ว

2.การนำผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ไปหักจากกำไรสุทธิหลังจากสิ้นสุดสิทธิการยกเว้นภาษีเงินได้ ไม่ถือเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงไม่ต้องยื่นแบบขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีต่อ BOI

กรณีขอสิทธิประโยชน์ A2 และ A3 ภายในบัตรเดียวกัน บริษัทจะดำเนินการขอรับการส่งเสริมในกิจการประเภท A2 (ยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี) และ A3 (ยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี) ในโครงการเดียวกัน สามารถทำได้หรือไม่

กรณีบริษัทมีผลิตภัณฑ์ 2 ชนิด คือ A และ B ซึ่งจัดเป็นคนละประเภทกิจการ บริษัทสามารถยื่นขอรับส่งเสริมการส่งเสริมรวมในโครงการได้ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ และกำหนดเงื่อนไข แยกตามประเภทกิจการนั้นๆ แต่ระยะเวลาการเริ่มใช้สิทธิครั้งแรก (เช่น สิทธิด้านเครื่องจักร วัตถุดิบ และภาษีเงินได้) จะเริ่มนับได้เพียง 1 ครั้ง ต่อ 1 โครงการ คือ ไม่แยกนับตามการเริ่มใช้สิทธิของ A หรือ B

ซึ่งในทางปฏิบัติ หากสิทธิประโยชน์ (โดยเฉพาะด้านเครื่องจักรและวัตถุดิบ) ของ A และ B แตกต่างกัน อาจมีปัญหาในการใช้สิทธิในระบบ EMT และ RMTS ด้วย ซึ่งบริษัทควรศึกษาข้อจำกัดของระบบให้ชัดเจนก่อน

โดยทั่วไป หากสิทธิประโยชน์ของ A และ B ไม่เท่ากัน แนะนำให้แยกยื่นเป็น 2 โครงการ เนื่องจากวันเริ่มใช้สิทธิครั้งแรกจะแยกกันตามแต่ละโครงการ ซึ่งจะคุ้มค่าทางภาษีมากกว่า

บริษัทต้องปิดโครงการที่น้ำท่วม อยากสอบถามว่าวัตถุดิบ และเครื่องจักรที่คงเหลือสามารถขอโอนไปยังบัตรส่งเสริมที่ได้รับอนุมัติใหม่หรือไม่

สำหรับการจะปิดโครงการที่เสียหายจากน้ำท่วม และต้องการโอนเครื่องจักรที่ไม่ได้เสียหายไปยังบัตรส่งเสริมอื่น ขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น จะโอนเครื่องอะไร และบัตรใหม่ได้รับส่งเสริมตามประกาศ 1/2555 หรือไม่ เป็นต้น

กรณีวัตถุดิบ

สามารถขออนุญาตโอนวัตถุดิบที่เหลือให้กับโครงการอื่นได้ หากเป็นรายการที่มีในบัญชีสต็อกวัตถุดิบเหมือนกัน

กรณีเครื่องจักร

BOI มีประกาศ ที่ 1/2555 เรื่อง มาตรการด้านภาษีอากรเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤติอุทกภัย กำหนดให้โครงการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถยื่นขอส่งเสริมโครงการใหม่โดยนำเครื่องจักรเดิมที่ไม่ได้เสียหายมาใช้ในโครงการใหม่ได้ รวมถึงสามารถนำเข้าเครื่องจักรเข้ามาใหม่เพื่อทดแทนเครื่องจักรที่เสียหาย ซึ่งการขอรับส่งเสริมตามประกาศนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าปกติ แต่ปัจจุบันพ้นกำหนดเวลาจะยื่นขอรับส่งเสริมตามมาตรการนี้แล้ว BOI มี คำชี้แจงวันที่ 28 ตุลาคม 2556 เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับเครื่องจักรที่เสียหายจากอุทกภัย ระบุว่า เครื่องจักรที่เสียหายจากอุทกภัย หากไม่ได้ขอนำไปใช้ในโครงการใหม่ที่ยื่นขอรับส่งเสริมตามประกาศที่ 1/2555 ก็จะต้องดำเนินการตามคำชี้แจงวันที่ 18 มกราคม 2556 คือ จะต้องส่งออก ทำลาย หรือชำระภาษีตามสภาพ สำหรับเครื่องจักรที่นำเข้ามายังไม่ครบ 5 ปี การนำเครื่องจักรจากโครงบัตรหนึ่ง ไปใช้งานในอีกโครงการหนึ่ง เป็นการสวมสิทธิทางภาษี ซึ่งผิดเงื่อนไขในการส่งเสริมการลงทุน ไม่สามารถทำได้ ยกเว้น เป็นการโอนเครื่องจักรจากโครงการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยไปใช้ในโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมตามประกาศ ที่ 1/2555 จึงจะสามารถดำเนินการได้

บริษัทได้รับบัตรส่งเสริม ในเดือนธันวาคม 58 ประเภท 5.8 กิจการ SOFTWARE โดยเริ่มมีการให้บริการระบบซอฟเเวร์ ในปี 58 และในปี 58 ได้มีการลงทุนครบ 1 ล้านบาท และได้ขอใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีไปแล้ว ซึ่ง BOI ได้ตรวจสอบและพิจารณาอนุมัติให้ใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีได้ในปี 58 ได้ มีข้อสงสัยเรื่องการเปิดดำเนินการ ดังนี้ 1. หากต้องการแจ้งขอเปิดดำเนินการ สามารถดำเนินการแจ้งขอเปิดดำเนินการได้เลยหรือไม่ 2. แล้วหากในปี 59 นี้ ยังไม่ขอแจ้งเปิดดำเนินการ โดยจะแจ้งขอเปิดดำเนินการในช่วงเดือนมีนาคม 2560 จะสามารถขอใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษี ในงบปี 59 นี้ได้หรือ โดยหลักแล้ว การยื่นขอเปิดดำเนินการ มีผลกับการยกเว้นภาษีหรือไม่ บางคน มีความเข้าใจว่า หากไม่ยื่นขอเปิดดำเนินการ และเจ้าหน้าที่ไม่อนุมัติเรื่องการเปิดดำเนินการให้เรียบร้อยก่อน จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีได้ โดยจะใช้สิทธิ์ขอยกเว้นภาษีได้ หลังจากที่ได้รับอนุมัติเรื่องเปิดดำเนินการจาก BOI แล้ว ไม่ทราบจริงเท็จเป็นอย่างไร

ปัจจุบันตามนโยบายใหม่ กิจการซอฟต์แวร์ที่ยื่นขอรับส่งเสริมตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป จะให้ส่งเสริมในประเภท 5.7 โดยจะไม่กำหนดเงื่อนไขการลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท แต่จะกำหนดเงื่อนไขเงินเดือนของบุคลากรด้านพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านบาทต่อปี กรณีที่สอบถามได้รับส่งเสริมซอฟต์แวร์ในประเภท 5.8 จึงเป็นการส่งเสริมตามนโยบายเก่า ก่อนปี 2558 ซึ่งกำหนดเงื่อนไขขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่าไว้ 1 ล้านบาท

ตอบคำถามตามนี้

1.หากปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในบัตรส่งเสริมครบถ้วน จะยื่นขอเปิดดำเนินการในปีใดก็ได้ แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาที่ระบุในบัตรส่งเสริม เว้นแต่จะได้รับอนุมัติขยายเวลาเปิดดำเนินการ

2.หากปฏิบัติตามเงื่อนไขขั้นต่ำครบถ้วน เช่น มีขนาดการลงทุนเกิน 1 ล้าน ก็สามารถยื่นขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ แม้ว่าจะยังไม่ได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการตามข้อ 1 ก็ตาม เพราะเป็นการพิจารณาคนละประเด็นกัน

กิจการซอฟต์แวร์ ไม่มีการกำหนดกำลังผลิตสูงสุด และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยไม่กำหนดวงเงินสูงสุดตามขนาดการลงทุน ดังนั้น เมื่อดำเนินการครบตามเงื่อนไขที่ได้รับส่งเสริม จะยื่นขอเปิดดำเนินการเลยก็ได้ ไม่มีผลเสียอะไร

เครื่องจักรเก่า ไม่เกิน 10 ปี นำเข้ามาจากต่างประเทศโดยเสียภาษี ก่อนวันยื่นขอรับการส่งเสริม โครงการใหม่ 1-2 เดือน หลังจากโครงการได้รับอนุมัติ 1.จะสามารถ ขอคืนภาษีได้หรือไม่ จะสามารถใช้ในโครงการที่ได้รับการส่งเสริม และ นับเป็นเครื่องจักรในโครงการ รวมนับกำลังการผลิตในวันเปิดดำเนินการ ได้หรือไม่

เครื่องจักรที่ซื้อมาก่อนวันยื่นคำขอรับการส่งเสริม จะไม่นับเป็นการลงทุนในโครงการที่ได้รับส่งเสริมเว้นแต่จะระบุไว้ในการยื่นคำขอรับการส่งเสริม ว่าจะขอใช้เครื่องจักรที่ซื้อมาก่อนวันยื่นคำขอฯ ในโครงการที่ได้รับส่งเสริมด้วย ซึ่งหากได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรดังกล่าว ก็จะให้รวมนับเป็นกำลังผลิตและนับเป็นขนาดการลงทุนของโครงการที่ได้รับส่งเสริม แต่จะไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร

กรณีที่สอบถาม คาดว่าไม่ได้แจ้ง BOI ตั้งแต่ในขั้นยื่นคำขอรับการส่งเสริม ว่าจะมีการใช้เครื่องจักรที่นำเข้ามาก่อนวันยื่นคำขอรับการส่งเสริม ดังนั้น จึงจะใช้ในโครงการ BOI ไม่ได้ และไม่นับเป็นขนาดการลงทุน ไม่นับเป็นกำลังผลิต และไม่ได้รับยกเว้นภาษีอากรเครื่องจักร แต่เนื่องจากเรื่องนี้มีความสำคัญต่อบริษัท จึงขอตรวจสอบหลักเกณฑ์อีกครั้ง และจะยืนยันคำตอบให้ทราบอีกครั้ง

กรณีที่สอบถาม ให้ยื่นเรื่องขอแก้ไขโครงการ เพื่อขอนำเครื่องจักรที่ได้มาก่อนวันยื่นคำขอรับส่งเสริม มาใช้ในโครงการที่ได้รับการส่งเสริม โดยจะต้องแนบหนังสือรับรองจากผู้สอบบัญชีฯ ว่าเครื่องจักรดังกล่าวไม่เคยใช้ในเชิงพาณิชย์ที่ก่อให้เกิดรายได้กับบริษัทมาก่อน ซึ่งหาก BOI อนุญาตให้ใช้ในโครงการ บริษัทก็จะสามารถนำเครื่องจักรดังกล่าวมานับเป็นขนาดการลงทุนและกำลังผลิตของโครงการได้ แต่จะไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และเนื่องจากเป็นเครื่องจักรเก่า ดังนั้น หากโครงการดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรเก่าก็จะต้องยื่นขออนุญาตใช้เครื่องจักรเก่าไปพร้อมกันด้วย

โครงการได้รับส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ให้รายงานวันที่มีรายได้ครั้งแรกอย่างไร

ให้รายงานวันที่มีรายได้ครั้งแรกหลังได้รับบัตรส่งเสริม

ระบบฯ มีการจัดทำเป็นภาษาอังกฤษหรือไม่

เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่ที่กรอกต้องลงรายละเอียดและอาจอ้างอิงเอกสารอื่นที่เป็นภาษาไทย ดังนั้นปัจจุบันจึงยังไม่มีการพัฒนาระบบฯ เป็นภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นสามารถดูแบบเตรียมข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานที่ www.boi.go.th โดยไปที่ INVESTMENT PROMOTION > BOI Forms and Online Service > Project Monitoring > Form

เครื่องมือแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง คืออะไร
อย. (กองควบคุมเครื่องมือแพทย์) มีการจัดประเภทของเครื่องมือแพทย์ตามความเสี่ยง สรุปได้ตามที่แสดงด้านล่าง โดยโปรดสอบถามหลักเกณฑ์การจัดประเภทเครื่องมือแพทย์ตามความเสี่ยงจาก อย. เพื่อความชัดเจนอีกครั้งประเภทความเสี่ยงสูง : เครื่องมือแพทย์ใดๆก็ตามที่ใช้รักษา วินิจฉัย ติดตามเฝ้าระวังหรือเพื่อการกายภาพ หากขณะใช้กับผู้ป่วยแล้วเครื่องมือมีอาการผิดปกติหรือการใช้ผิดพลาด ผู้ใช้เครื่องไม่สามารถเข้าไปขัดขวางหรือให้การช่วยเหลือได้ทีนทีอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายหรืออาการป่วยเพิ่มมากขึ้น
ผู้ประกอบการไทยสามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้หรือไม่

นโยบายส่งเสริมการลงทุนของสำนักงาน เปิดกว้างให้กับผู้ที่สนใจลงทุนทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติ  นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพร้อมสนับสนุนและส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยให้เติบโตโดยได้กำหนดให้การส่งเสริมการลงทุนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมผ่านการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและยกเว้นอากรต่างๆ เท่าที่ตามเงื่อนไขที่กำหนด 

บริษัทจำหน่ายสินค้าให้กับลูกค้าของบริษัท ซึ่งลูกค้า "ไม่ได้เป็น BOI" ในกรณีนี้บริษัทสามารถนำหลักฐานการชำระภาษีฯ ไปยื่น ขอตัดบัญชีวัตถุดิบได้ใช่หรือไม่

หากบริษัทชำระภาษีอากรตามสภาพสินค้าสำเร็จรูปเสร็จสิ้นแล้ว สามารถนำหลักฐานการชำระภาษีมายื่นตัดบัญชีได้ ไม่เกี่ยวกับประเด็นว่าจะจำหน่ายให้กับบริษัท BOI หรือไม่

บริษัทได้รับส่งเสริม IPO แล้วต้องการเปลี่ยนเป็นกิจการ ITC ทุนจดทะเบียนยังคงเดิมได้หรือไม่

ถ้าแค่เปลี่ยนประเภทกิจการ ทุนจดทะเบียนยังเท่าเดิมได้ แต่กรณี IPO หรือ ITC ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ตามเงื่อนไของกิจการ

บริษัทฯ ได้ยื่นขอจดทะเบียนบริษัทที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (ตอนเปิดบริษัทฯ) 35 ล้านบาท และได้ยื่นขอรับการส่งเสริมจาก BOI ขนาดการลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน 50.9 ล้านบาท ตามประวัติ ต่อมาบริษัทฯ ได้มีการเพิ่มทุนบริษัทและได้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพิ่มอีก แต่ BOI เท่าเดิม 1.ไม่ทราบว่าเงินจดทะเบียนทั้ง 2 ที่เหมือนหรือต่างกันหรือไม่ ต่างกันอย่างไร? 2. ถ้าเหมือนกัน เราจะต้องแจ้งเพิ่มกับ BOI ด้วยวิธีใด

เงื่อนไขของหน่วยงานราชการแต่ละแห่ง เป็นเงื่อนไขที่กำหนดตาม พรบ. ที่หน่วยงานนั้นเป็นผู้รับผิดชอบ จึงขอให้มองว่าเป็นคนละเรื่องกัน

การเพิ่มทุน ลดทุน เรียกประชุมผู้ถือหุ้น เปลี่ยนแปลงกรรมการ ฯลฯ เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยการจดทะเบียนหุ้นส่วนและบริษัท

ส่วนเงื่อนไขทุนจดทะเบียนที่ BOI กำหนด เป็นไปตาม พรบ ส่งเสริมการลงทุน บัตรส่งเสริมของบริษัท กำหนดเงื่อนไขทุนจดทะเบียนไว้เท่าไร

- หากบริษัทจดทะเบียนไว้เท่ากับ หรือเกินกว่า เงื่อนไขในบัตร ถือว่าถูกต้องตามเงื่อนไข BOI

- แต่หากจดไว้น้อยกว่า ก็ผิดเงื่อนไข ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนให้เท่ากับเงื่อนไข หรือบางกรณี อาจขอแก้ไขเงื่อนไขเพื่อลดทุนจดทะเบียนในบัตรส่งเสริมก็ได้

หากบริษัทยื่นขอชำระภาษีผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปแล้ว และบริษัทได้ดำเนินการชำระภาษีเรียบร้อยแล้ว แล้วในส่วนของขั้นตอนการขายผลิตภัณฑ์ทีขอชำระภาษี มีกำหนดระยะเวลาไหม ว่าต้องขายภายในกี่วัน หรือสามารถขายเมื่อไหร่ก็ได้

เมื่อมีการประเมินภาษีอากรและชำระภาษีอากรแล้ว ปกติก็ควรจะจำหน่ายให้กับลูกค้าภายในเวลาที่เหมาะสม

ประเภทธุรกิจตามพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มีรายละเอียดอย่างไร

คำว่า “คนต่างด้าว” มีความหมายครอบคลุม

ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 บุคคลต่อไปนี้ถือว่าเป็นคนต่างด้าว

(1) บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

(2) นิติบุคคลซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย

(3) นิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยที่มีทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งเป็นของบุคคลหรือนิติบุคคลตาม (1) หรือ (2)

(4) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยที่มีทุนตั้งแต่กึ่งหนึ่งเป็นของ (1) (2) หรือ (3)

ประเภทธุรกิจตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542

ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ห้ามคนต่างด้าวประกอบธุรกิจ  บางประเภทและบางประเภทจะประกอบธุรกิจได้ ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาต หรือได้รับหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แล้วแต่กรณี ประกอบด้วยบัญชีรายชื่อธุรกิจ 3 บัญชี ดังนี้

(1) บัญชีหนึ่ง

เป็นธุรกิจที่ห้ามมิให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจด้วยเหตุผลพิเศษ ได้แก่

(1) การทำกิจการหนังสือพิมพ์ การทำกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงหรือสถานีวิทยุโทรทัศน์

(2) การทำนา ทำไร่ หรือทำสวน

(3) การเลี้ยงสัตว์

(4) การทำป่าไม้และการแปรรูปไม้จากป่าธรรมชาติ

(5) การทำการประมงเฉพาะการจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย และในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย

(6) การสกัดสมุนไพรไทย

(7) การค้าและการขายทอดตลาดโบราณวัตถุของไทย หรือที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของประเทศ

(8) การทำหรือหล่อพระพุทธรูป และการทำบาตร

(9) การค้าที่ดิน 

(2) บัญชีสอง

เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับความปลอดภัย หรือความมั่นคงของประเทศ หรือมีผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี หัตถกรรมพื้นบ้าน หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คนต่างด้าวจะประกอบธุรกิจได้เมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี โดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย 3 หมวด ดังนี้

หมวด 1 ธุรกิจที่เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือความมั่นคงของประเทศ

(1) การผลิต การจำหน่าย และการซ่อมบำรุง

() อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ดินปืน วัตถุระเบิด

() ส่วนประกอบของอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิด

() อาวุธยุทโธปกรณ์ เรือ อากาศยาน หรือยานพาหนะทางการทหาร

() อุปกรณ์หรือส่วนประกอบของอุปกรณ์สงครามทุกประเภท


(2) การขนส่งทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศในประเทศ รวมถึงกิจการการบินในประเทศ

หมวด 2 ธุรกิจที่มีผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และหัตถกรรมพื้นบ้าน

(1) การค้าของเก่า หรือศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นงานศิลปกรรม หัตถกรรมของไทย

(2) การผลิตเครื่องไม้แกะสลัก

(3) การเลี้ยงไหม การผลิตเส้นไหมไทย การทอผ้าไหมไทย หรือการพิมพ์ลวดลายผ้าไหมไทย

(4) การผลิตเครื่องดนตรีไทย

(5) การผลิตเครื่องทอง เครื่องเงิน เครื่องถม เครื่องทองลงหิน หรือเครื่องเขิน

(6) การผลิตถ้วยชามหรือเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นศิลปวัฒนธรรมไทย


หมวด 3 ธุรกิจที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม

(1) การผลิตน้ำตาลจากอ้อย

(2) การทำนาเกลือ รวมทั้ง การทำเกลือสินเธาว์

(3) การทำเกลือหิน

(4) การทำเหมือง รวมทั้ง การระเบิด หรือย่อยหิน

(5) การแปรรูปไม้เพื่อทำเครื่องเรือนและเครื่องใช้สอย

(3) บัญชีสาม

ธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันในการประกอบกิจการกับคนต่างด้าว คนต่างด้าวจะประกอบธุรกิจได้เมื่อได้รับอนุญาตจากอธิบดี โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการ

การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

(1) การสีข้าว และการผลิตแป้งจากข้าวและพืชไร่

(2) การทำการประมง (เฉพาะการเพาะเลี้ยงสัตว์นำ้)

(3) การทำป่าไม้จากป่าปลูก

(4) การผลิตไม้อัด แผ่นไม้วีเนียร์ ชิปบอร์ด หรือฮาร์ดบอร์ด

(5) การผลิตปูนขาว

(6) การทำกิจการบริการทางบัญชี

(7) การทำกิจการบริการทางกฎหมาย

(8) การทำกิจการบริการทางสถาปัตยกรรม

(9) การทำกิจการบริการทางวิศวกรรม

(10) การก่อสร้าง

ยกเว้น

() การก่อสร้างสิ่งซึ่งเป็นการให้บริการพื้นฐานแก่ประชาชนด้านการสาธารณูปโภค หรือ การคมนาคมที่ต้องใช้เครื่องมือ เครื่องจักร เทคโนโลยี หรือความชำนาญในการก่อสร้างเป็นพิเศษ โดยมีทุนขั้นต่ำของคนต่างด้าวตั้งแต่ห้าร้อยล้านบาทขึ้นไป

() การก่อสร้างประเภทอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


(11) การทำกิจการนายหน้าหรือตัวแทน

ยกเว้น

() การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ หรือการบริการที่เกี่ยวกับการซื้อขาย ล่วงหน้าซึ่งสินค้าเกษตร หรือตราสารทางการเงิน หรือหลักทรัพย์

() การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขาย หรือจัดหาสินค้าหรือบริการที่จำเป็นต่อการผลิตหรือการให้บริการของวิสาหกิจในเครือเดียวกัน

() การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อ ขาย จัดซื้อ หรือจัดจำหน่าย หรือจัดหาตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อการจำหน่ายซึ่งสินค้าที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศอันมีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ โดยมีทุนขั้นต่ำของคนต่างด้าวตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป

() การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนประเภทอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


(12) การขายทอดตลาด

ยกเว้น

() การขายทอดตลาดที่มีลักษณะเป็นการประมูลซื้อ ขายระหว่างประเทศ ที่มิใช่การประมูลซื้อ ขายของเก่า วัตถุโบราณ หรือศิลปวัตถุซึ่งเป็นงานศิลปกรรม หัตถกรรม หรือโบราณวัตถุของไทย หรือที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของประเทศ

() การขายทอดตลาดประเภทอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


(13) การค้าภายในเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลทางการเกษตรพื้นเมืองที่ยังไม่มีกฎหมายห้ามไว้

ยกเว้น

การซื้อ ขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย โดยไม่มี  การส่งมอบหรือรับมอบสินค้าเกษตรภายในประเทศ

(14) การค้าปลีกสินค้าทุกประเภทที่มีทุนขั้นต่ำรวมทั้งสิ้น น้อยกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท หรือที่มีทุนขั้นต่ำของแต่ละร้านค้าน้อยกว่ายี่สิบล้านบาท

(15) การค้าส่งสินค้าทุกประเภทที่มีทุนขั้นต่ำของแต่ละร้านค้าน้อยกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท

(16) การทำกิจการโฆษณา

(17) การทำกิจการโรงแรม เว้นแต่บริการจัดการโรมแรม

(18) การนำเที่ยว

(19) การขายอาหารหรือเครื่องดื่ม

(20) การทำกิจการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธ์ุพืช

(21) การทำธุรกิจบริการอื่น ยกเว้นธุรกิจบริการที่กำหนดในกฎกระทรวง


** โดยทั่วไปแล้วจะไม่นำกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวมาใช้ หากธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติดำเนินกิจการไม่อยู่ในบัญชี 3 ประเภทนี้ หรือ เป็นกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน

จะรู้ได้อย่างไรว่าเครื่องมือแพทย์ที่จะผลิตมีความเสี่ยงสูงและอยู่ในข่ายได้รับการส่งเสริมในกิจการ 3.11.1 หรือไม่
อย. (กองควบคุมเครื่องมือแพทย์) มีการจัดประเภทของเครื่องมือแพทย์ตามความเสี่ยง ดังนั้นหากได้รับการรับรองจาก อย. ว่าเป็นเครื่องมือแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง ก็จะอยู่ในข่ายให้การส่งเสริมในประเภทกิจการ 3.11.1
บริษัทมีการส่งรายงานความคืบหน้าโครงการ ปีละ 2 ครั้งทุกเดือน ก.พ. และ ก.ค. ของทุกปี แต่ว่ามีรายงานผลการดำเนินงานประจำปีหนึ่ง ซึ่งมาตรวจพบว่าไม่ได้ส่งข้อมูลผลการดำเนินงานเมื่อปี 2561 ให้ทาง BOI อย่างนี้เราจะคีย์ส่งข้อมูลย้อนหลังได้หรือไม่ หรือว่า ไม่ต้องส่งก็ได้

- การรายงานความคืบหน้าโครงการ จะต้องรายงานปีละ 2 ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ และกรกฎาคม ของทุกปี จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตเปิดดำเนินการ

หากไม่รายงาน จะถูกระงับสิทธิตามบัตรส่งเสริม และหากไม่รายงานติดต่อกัน 2 ครั้ง จะถูกเพิกสิทธิประโยชน์หรือเพิกถอนบัตรส่งเสริม ตาม ประกาศ สกท ที่ 1/2561

- การรายงานผลการดำเนินการประจำปี จะต้องรายงานปีละ 1 ครั้ง ในเดือนกรกฎาคม ของทุกปี จนกว่าจะสิ้นสภาพการเป็นผู้ได้รับส่งเสริม

หากไม่รายงาน จะถูกระงับสิทธิตามบัตรส่งเสริม และหากไม่รายงานติดต่อกัน 2 ครั้ง จะถูกเพิกถอนบัตรส่งเสริม ตาม ประกาศ สกท ที่ 2/2561

หากบริษัทตรวจพบว่ายังไม่ได้ยื่นรายงานในรอบปีใด สามารถยื่นรายงานย้อนหลังได้ ก่อนที่จะถูกระงับสิทธิหรือเพิกถอนสิทธิ

หาก BOI อนุญาตให้ใช้ในโครงการที่ได้รับการส่งเสริม และได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรเก่า แล้ววันที่นำเข้าเครื่องจักรครั้งแรก ควรใช้วันที่นำเข้าเครื่องจักรเก่านี้ หรือวันที่ นำเข้าเครื่องจักรตัวแรก หลังจากยื่นขอรับส่งเสริม ใช้แจ้งยืนยันการดำเนินการตามโครงการ

การแจ้งยืนยันการดำเนินงานรอบ 6 เดือน 1 ปี 2 ปี จะใช้เฉพาะตัวเลขของเครื่องจักรที่ซื้อมาหลังจากวันยื่นคำขอฯ ไปก่อนก็ได้ เพราะเป็นเพียงการติดตามว่า บริษัทมีเจตนาที่จะดำเนินการตามโครงการต่อ รอเป็นขั้นตอนเปิดดำเนินการ จึงค่อยยื่นข้อมูลเครื่องจักรทั้งหมด ตามผลที่ได้ยื่นขอแก้ไขโครงการเพื่อใช้เครื่องจักรเก่าที่นำเข้ามาก่อนวันยื่นคำขอฯ

บริษัทเป็นกิจการประเภท 1.6 กิจการผลิตอาหารสัตว์และส่วนผสมอาหารสัตว์ บัตรส่งเสริมเลขที่ ......(2)/2553 ลงวันที่ ... มกราคม 2553 ต้องการเปิดดำเนินการ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

การเปิดดำเนินการ ให้กรอก แบบขออนุญาตเปิดดำเนินการ (F PM OP 01) และยื่นต่อบีโอไอ จากนั้น จนท จะพิจารณาเอกสารหลักฐาน และตรวจสอบสถานประกอบการว่ามีการดำเนินการตามเงื่อนไขที่ได้รับส่งเสริม สรุปภาพรวมการตรวจสอบเปิดดำเนินการคร่าวๆ ตาม Link : http://www.faq108.co.th/boi/operate/operate.php

เนื่องจากบริษัทมีเงื่อนไขต้องรายงานความคืบหน้าโครงการ ทุกเดือนกุมภาพันธ์ และกรกฎาคม แต่เมื่อล็อคอินเข้าระบบ เพื่อจะยื่นรายงานรอบเดือน ก.ค. 61 พบแต่ช่องที่เคยคีย์ข้อมูลไว้แล้วตั้งแต่ ก.พ. 61 แต่ไม่มีช่องให้คีย์ข้อมูลเพิ่มเติม ไม่ทราบว่าต้องดำเนินการอย่างไรต่อ

BOI ได้เปลี่ยนวิธีรายงานความคืบหน้าโครงการ โดยไม่ต้องกรอกมูลค่าการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) แต่ให้รวมไปกรอกข้อมูลการลงทุนของทั้งปี ในการรายงานความคืบหน้าในเดือน ก.พ. ของปีถัดไป ดังนั้น การรายงานความคืบหน้าในเดือน ก.ค. หากบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงวันซื้อที่ดิน / โรงงาน / เครื่องจักร หรือวันมีรายได้ครั้งแรก ก็ให้คีย์แก้ไข แต่หากไม่มีการแก้ไขวันที่ข้างต้น ก็กดบันทึกข้อมูลเดิมและยื่นได้เลย

ขออภัยครับ ไม่มีข้อมูลส่วนนี้ ในภาษาที่ท่านเลือก !

Sorry, There is no information support your selected language !

Download และ ติดตั้งโปรแกรมอ่าน PDF

Download PDF Reader

Site map