Chat
x
toggle menu
toggle menu

Select Groups

All Group
  • All Group
  • นโยบายเเละมาตรการพิเศษในการส่งเสริม
  • การขอรับการส่งเสริมการลงทุน
  • การออกบัตรส่งเสริม
  • การเปิดดำเนินการ
  • การเเก้ไขโครงการ
  • การดำเนินการอื่น ๆ
  • การรายงานความคืบหน้าโครงการ (e-Monitoring)
  • การปฏิบัติหลังการได้รับการส่งเสริม
  • การยกเลิกบัตรส่งเสริม
  • เรื่องทั่วไป
  • การใช้สิทธิด้านที่ดิน
  • การใช้สิทธิด้านเครื่องจักร
  • การใช้สิทธิด้านช่างฝีมือ/ต่างด้าว
  • การใช้สิทธิด้านวัตถุดิบ
  • ประเภทกิจการ - การแพทย์
  • การใช้สิทธิด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล
  • ประเภทกิจการ - รถยนต์ไฟฟ้า
  • ประเภทกิจการ - ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC) IPO และ TISO
  • ประเภทกิจการ - โรงแรม
  • ประเภทกิจการ - ผลิตผลิตภัณฑ์โลหะรวมทั้งชิ้นส่วนโลหะ
  • ประเภทกิจการ - กิิจการผลิิตเครื่่องจัักร อุุปกรณ์์และชิ้นส่่วน
  • ประเภทกิจการ - กิิจการศููนย์์กระจายสิินค้้าระหว่่าง ประเทศด้้วยระบบที่่ทัันสมััย (IDC)
การขอ max stock วัตถุดิบหลังเปิดดำเนินการแล้ว (11 พ.ย. 2564)
การแก้ไขปริมาณสต๊อกสูงสุดสามารถทำได้เกินกำลังการผลิตที่ได้รับอนุมัติหรือไม่ เช่น ได้รับอนุมัติกำลังการผลิต 12 ล้านชิ้นต่อปี ปริมาณสต๊อกสูงสุด 4 เดือน คือ 4 ล้านชิ้น หากเราผลิตจริงเกินเป็น 24 ล้านชิ้นต่อปี (ส่วนที่เกินชำระภาษีเงินได้ปกติ) สามารถขอปริมาณสต๊อกสูงสุด 4 เดือน คือ 8 ล้านชิ้น ได้หรือไม่
A2:
ปริมาณสต็อกสูงสุด (Max Stock) จะคำนวณจากกำลังผลิต 4 เดือนตามของกำลังผลิตตามบัตรส่งเสริม ดังนั้น แม้ว่าบริษัทจะผลิตจริงได้สูงกว่าบัตรส่งเสริม ก็ไม่สามารถนำมาเป็นเหตุผลในการขอเพิ่ม Max Stock ได้ และจำเป็นต้องขอแก้ไขกำลังผลิตในบัตรส่งเสริมให้เพิ่มขึ้นด้วย
แต่เนื่องจากการขอแก้ไขกำลังผลิต มีหลายกรณี แต่ละกรณีมีหลักเกณฑ์การพิจารณาแตกต่างกัน หากต้องการสอบถามในประเด็นการขอแก้ไขกำลังผลิต กรุณาตั้งคำถามในหมวดหมู่แก้ไขโครงการ และระบุเหตุผลที่บริษัทสามารถผลิตจริงได้มากกว่ากำลังผลิตในบัตรส่งเสริมให้ชัดเจนด้วย
ถ้าหากบริษัทฯ ขยายเวลานำเข้าเครื่องจักรครบ 3 ครั้งแล้ว เปิดดำเนินการแล้ว ยังจะสามารถนำเข้าเครื่องจักรหลักมาเพื่อทดแทนเครื่องจักรที่ชำรุดเสียหาย โดยได้รับยกเว้นอากรขาเข้าอยู่หรือไม่ (รวมถึงอะไหล่ด้วย) ยังสามารถนำเข้ามาเพื่อทดแทนของเดิมที่เสียหาย โดยได้รับยกเว้นอากรขาเข้าอยู่หรือไม่ (11 มิ.ย. 2563)

หากระยะเวลานำเข้าเครื่องจักรสิ้นสุดแล้ว การนำเข้าเครื่องจักรหลักเพื่อมาทดแทนเครื่องจักรเดิม หรือนำเข้าอะไหล่เพื่อซ่อมแซม ต้องชำระภาษีอากรตามปกติ

สามารถนำอะไหล่กลับมาในนามอีกบริษัทได้หรือไม่: เนื่องจากเจ้าของบริษัททำธุรกิจประเภทกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเจ้าของบริษัทมีบริษัท a และ บริษัท b (นามสมมุติ) ซึ่งเป็นธุรกิจประเภทเดียวกัน บริษัทนำเข้าอะไหล่ โดยขอใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้ามาในนามบริษัท a ซึ่งบริษัท a กำลังจะส่งอะไหล่ไปซ่อมที่ต่างประเทศจำนวน xx ชิ้น คำถาม เมื่ออะไหล่ซ่อมเสร็จแล้ว เราสามารถให้ทางต่างประเทศส่งอะไหล่มาในนามบริษัท b ได้หรือไม่ เพราะอะไหล่ส่วนนี้นั้นจะนำมาใช้งานในบริษัท B ปล. อะไหล่ที่สั่งนำเข้ามาบางล็อตนำมาใช้งานในบริษัท b แต่ขอใช้สิทธิ BOI ในนามบริษัท a บริษัทกำลังจะแก้ปัญหาในส่วนนี้ที่อยากจะทำให้มันถูกต้อง (11 มิ.ย. 2563)

กรณีบริษัทได้รับส่งเสริม 2 โครงการ โดยได้นำอะไหล่เครื่องจักรเข้ามาโดยใช้สิทธิประโยชน์ผิดโครงการ แนะนำให้ไปติดต่อปรึกษากับเจ้าหน้าที่ BOI ที่รับผิดชอบโครงการของบริษัท ซึ่งหากเจ้าหน้าที่พิจารณาเห็นว่าทั้ง 2 โครงการมีการใช้เครื่องจักรชนิดเดียวกัน และใช้อะไหล่ชนิดเดียวกัน และวันที่นำเข้าอะไหล่ดังกล่าว อยู่ภายในระยะเวลาการได้รับสิทธิประโยชน์ของทั้ง 2 โครงการ BOI อาจออกหนังสืออนุญาตให้นำอะไหล่ที่นำเข้ามาโดยใช้สิทธิของโครงการหนึ่ง ไปใช้ในอีกโครงการหนึ่งได้ โดยไม่ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธินำเข้าอะไหล่นั้น

บริษัทได้รับบัตรส่งเสริมปี 2532 ในประเภทกิจการแปรรูปอาหาร 1.17 และได้นำบัตรใบเดิมมาขอมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในปี 2563 บัตรส่งเสริมใหม่ตามาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์ มาตรา 36 หากบริษัทต้องการนำเข้าวัตถุดิบประเภทนมเพื่อนำมาแปรรูปส่งออก สามารถใช้สิทธิตามมาตรา 36 ได้หรือไม่อย่างไร(13 ธ.ค. 2564)

เนื่องจากมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ ตามประกาศ กกท ที่ 1/2564 ได้ระบุสิทธิประโยชน์เฉพาะการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น ดังนั้น หากโครงการเดิมก่อนปรับปรุงประสิทธิภาพ ไม่ได้รับสิทธิมาตรา 36 แล้วต่อมายื่นขอปรับปรุงประสิทธิภาพ ก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 36 เช่นเดียวกัน

กรณีนี้ บริษัทจึงควรขอแก้ไขโครงการเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 36 ของโครงการเดิมก่อน จากนั้นจึงยื่นขอปรับปรุงประสิทธิภาพตามประกาศ กกท ที่ 1/2564 แต่ทั้งนี้หากวัตถุดิบดังกล่าวมีข้อห้าม/ข้อกำหนดเกี่ยวกับการนำเข้าตามกฎหมายอื่นอย่างไร บริษัทก็ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายนั้นๆ ด้วย

การขอรับสิทธิมาตรา 36 เพิ่มเติม ให้ยื่นแบบคำขอแก้ไขโครงการ (F PA PC 01) โดยในหน้า 3/3 ให้เลือก "กรณีอื่นๆ" ขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามมาตรา 36

บริษัทเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบไปต่างประเทศ โดยวัตถุดิบนั้นซื้อมาจากผู้ผลิตในประเทศที่นำเข้าชิ้นส่วนภายใต้ ม.36 แล้วนำมาประกอบบางส่วนก่อนส่งขายให้เรา บริษัทจะคืนวัตถุดิบให้เวนเดอร์อย่างไร (ทาง IC แจ้งว่าทำไม่ได้ เพราะไม่สามารถระบุ เลข นร. นำเข้าของเวนเดอร์ได้) ขอยกตัวอย่าง คือ เราซื้อวัตถุดิบ ก. มาจากเวนเดอร์ (เวนเดอร์นำเข้า วัตถุดิบ ก.1 ภายใต้ ม.36 มาประกอบกับ ก.2 แล้วกลายเป็นวัตถุดิบ ก.) ขอแบ่งเป็น 2 กรณีย่อย คือ 1. เราส่งออกวัตถุดิบ ก. ไปต่างประเทศ ต้องการคืน วัตถุดิบ ก. ให้เวนเดอร์ 2. เรานำวัตถุดิบ ก. มาผลิตต่อ กลายเป็น วัตถุดิบ ข. (Semi FG) แล้วส่งออกไปต่างประเทศ ต้องการคืนวัตถุดิบ ก. ให้เวนเดอร์ ปล. ปกติกรณีเราผลิตจนเป็นผลิตภัณฑ์ พอตัดบัญชีสามารถโอนยอด วัตถุดิบ ก. ให้เวนเดอร์ ได้ตามปกติ (13 ธ.ค. 2564)

บริษัท A ซื้อวัตถุดิบจากบริษัท B มาผลิตเป็นสินค้าส่งออก จากนั้นตัดบัญชี และโอนสิทธิตัดบัญชีวัตถุดิบให้กับบริษัท B ได้ตามขั้นตอนปกติ

1. หากบริษัท A ซื้อวัตถุดิบจากบริษัท B แล้วนำไปส่งออก จะตัดบัญชีและโอนสิทธิตัดบัญชีวัตถุดิบให้บริษัท B ได้หรือไม่

ตอบ)

1.1 หากบริษัท A ไม่ได้รับส่งเสริมในกิจการ ITC หรือ IPO

- การที่บริษัท A ซื้อวัตถุดิบจาก B มาส่งออก ถือเป็นการประกอบกิจการที่ไม่ได้รับส่งเสริม จึงไม่สามารถขออนุมัติสูตรการผลิตเพื่อตัดบัญชีและโอนสิทธิตัดบัญชีวัตถุดิบให้กับ B ได้

- กรณีนี้บริษัท A สามารถระบุเลขนิติบุคคล 13 หลักของบริษัทผู้รับโอน (คือบริษัท B) ในช่อง remark ของใบขนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้รับโอนสามารถดึงใบขนดังกล่าวไปตัดบัญชีได้โดยตรง

1.2 หากบริษัท A ได้รับส่งเสริมในกิจการ ITC หรือ IPO

- สามารถขออนุมัติสูตรการผลิต (สูตรแบบ 1:1) เพื่อตัดบัญชีและโอนสิทธิตัดบัญชีวัตถุดิบให้กับบริษัท B ได้ตามขั้นตอนปกติ

2. หากบริษัท A ซื้อวัตถุดิบจากบริษัท B แล้วนำไปผลิตเป็นสินค้ากึ่งสำเร็จรูปเพื่อส่งออก จะตัดบัญชีและโอนสิทธิตัดบัญชีวัตถุดิบให้บริษัท B ได้หรือไม่

ตอบ)

- หากในบัตรส่งเสริมไม่ระบุให้มีการผลิตสินค้ากึ่งสำเร็จรูป บริษัท A จะไม่สามารถขออนุมัติสูตรสินค้ากึ่งสำเร็จรูป เพื่อตัดบัญชีและ/หรือโอนสิทธิตัดบัญชีให้กับบริษัท B

- และไม่สามารถใช้วิธีตามข้อ 2.1 เพื่อโอนสิทธิตัดบัญชีให้กับบริษัท B เนื่องจากสินค้าที่บริษัท A ส่งออก เป็นคนละรายการกับวัตถุดิบที่ซื้อมาจาก B


ถาม: ได้สอบถามไปทางเวนเดอร์ เขาไม่เคยทำเคสแบบนี้ และได้สอบถามไปทาง IC แหลมฉบังว่าทางเวนเดอร์สามารถนำใบขนนี้มาปรับยอดได้หรือไม่ ทาง IC แจ้งว่าไม่เคยทำเคสนี้เช่นเดียวกัน ขอทำความเข้าใจกระบวนการนี้ว่าเป็นดังนี้หรือไม่

1. เราส่งออกวัตถุดิบที่ซื้อมาจากเวนเดอร์ โดยตอนทำใบขนให้ระบุเลขนิติบุคคล 13 หลักของบริษัทผู้รับโอน (คือบริษัท B) ในช่อง remark

2. ส่งใบขนดังกลาวให้เวนเดอร์นำใบปรับยอด

3. เวนเดอร์นำใบขนไปคีย์ไฟล์ xxx ? เพื่อปรับยอดที่ IC --> ขั้นตอนนี้ต้องทำอย่างไร (ทาง IC แจ้งว่าให้สอบถามกับเจ้าหน้าที่ BOI)

ตอบ: การส่งออกผ่าน Trading (ตามตัวอย่างที่สอบถาม A คือ Trading และ B คือผู้ผลิต) มีขั้นตอนในการตัดบัญชีตาม ประกาศ สกท ที่ ป.2/2564 คือ

1. A ต้องทำใบขนอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อ 8 (1.4) ของประกาศ และระบุเลข 13 หลักของ B ในช่อง remark ของรายการสินค้าในใบขนฯ ที่จะโอนสิทธิตัดบัญชีให้ B

2. จากนั้น A แจ้งเลขที่/วันที่ใบขนฯ ให้ B ทราบ

3. หลังจากใบขนฯขึ้นระบบ IC Online แล้ว B จะสามารถดึงข้อมูลใบขนดังกล่าว เฉพาะรายการที่ระบุการโอนสิทธิให้ B มาตัดบัญชีตามขั้นตอนปกติต่อไป


ถาม: กรณีที่สอบถาม A เป็นผู้ผลิตเหมือนกัน แต่จะขอส่งวัตถุดิบไปต่างประเทศ ทำวิธีนี้ได้เหมือนกันใช่หรือไม่

ตอบ: สามารถทำได้ โดยกิจการในส่วนซื้อมา-ขายไป (ส่งออก) นี้ จะเป็นกิจการส่วนที่ไม่ได้รับส่งเสริม โดยหากกิจการที่ได้รับส่งเสริมอยู่เดิมยังอยู่ในช่วงเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทจะต้องจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของกิจการซื้อมา-ขายไปนี้ แยกจากกิจการส่วนที่ได้รับส่งเสริม และจะนำสิทธิประโยชน์ที่ได้รับอยู่เดิมมาใช้กับกิจการส่วนที่ไม่ได้รับส่งเสริมนี้ไม่ได้ และหาก A เป็นนิติบุคคลต่างชาติ (หุ้นต่างชาติมากกว่ากึ่งหนึ่ง) จะต้องไม่ใช่การซื้อมาเพื่อนำไปจำหน่ายในประเทศ มิฉะนั้นจะขัดกับ พรบ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ด้วย

หากว่าบริษัทฯ a กำลังจะส่งอะไหล่คืนไปต่างประเทศ (เป็นอะไหล่เสียไม่ส่งซ่อม แต่เป็นการส่งคืน) และทางต่างประเทศจะส่งอะไหล่ใหม่มาให้บริษัท คำถาม คือ บริษัทสามารถนำเข้าอะไหล่มาในนามบริษัท B ได้หรือไม่ และการส่งอะไหล่คืนไปต่างประเทศมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง (11 มิ.ย. 2563)

1. สามารถทำได้ แต่จะเป็นการนำเข้าอะไหล่เก่า ซึ่งต้องมีใบรับรองประสิทธิภาพเครื่องจักรเก่าตามหลักเกณฑ์ที่ BOI กำหนด จึงจะใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรได้

2. การส่งคืนเครื่องจักร/อะไหล่ ให้ยื่นคำร้องในระบบ eMT ในเมนูส่งคืนเครื่องจักร

ถ้าหากต่างประเทศส่งอะไหล่ใหม่มา ก็ไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองประสิทธิภาพเครื่องจักรเก่าตามหลักเกณฑ์ที่ BOI กำหนด และสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรได้อยู่ใช่ไหม (11 มิ.ย. 2563)

1. การนำเข้าอะไหล่ใหม่ ไม่ต้องใช้ใบรับรองประสิทธิภาพเครื่องจักรเก่า

2. สามารถนำเข้าอะไหล่เครื่องจักรโดยใช้สิทธิยกเว้นภาษี หากระยะเวลานำเข้าเครื่องจักรยังไม่สิ้นสุด

กรณีชื่อวัตถุดิบบนอินวอยซ์ไม่เหมือนกับชื่อที่บีโอไออนุมัติ สามารถทำได้หรือไม่ เช่น ชื่อที่บีโอไออนุมัติคือ MOTOR แต่ชื่อบนอินวอยซ์คือ MOTOR IMB310-11 24970 หรือ MOTOR MK115-199 BLUE และจะมีปัญหาในการการดำเนินการสำหรับกรมศุลฯ หรือไม่ (13 ธ.ค. 2564)

จากการสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่า กรมศุลกากรจะพิจารณายกเว้นภาษีอากร (หรือคืนอากร) ตามชื่อที่ต้องตรงกับที่ BOI แจ้งไปเท่านั้นหรือไม่ หรือในบางกรณีเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรอาจใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาได้หรือไม่ (เช่น กรณีที่ชื่อสั่งปล่อย ต่างกับชื่อที่ระบุในใบขนสินค้า โดยไม่กระทบกับสาระสำคัญ เช่น มีอักขระ . หรือ - หรือ s เป็นต้น)

ซึ่งทางกรมศุลกากรเองก็น่าจะมีประกาศหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาอนุมัติในส่วนนี้ จึงควรสอบถามกับทางกรมศุลกากรโดยตรงเพื่อข้อมูลที่ถูกต้อง

สำหรับในส่วนของ BOI (IC) แนะนำว่า ควรระบุชื่อวัตถุดิบและโมเดลในการสั่งปล่อยยกเว้น (หรือขอคืน) ภาษีอากร ให้ตรงกับใบขนสินค้าขาเข้าจะเป็นวิธีที่ถูกต้องที่สุด

วัตถุดิบตามมาตรา 36/1 ของ บริษัทเสียหาย ไม่สามารถนำมาใช้ในไลน์การผลิตได้ จึงทำการเคลมประกัน โดยบริษัทประกันแจ้งว่าต้องการนำวัตถุดิบดังกล่าวไป หลังจากจ่ายค่าเสียหายให้กับ บริษัทแล้ว 1. บริศัทจะต้องดำเนินการขออนุญาต BOI อย่างไร - ขอชำระภาษีวัตถุดิบที่ไม่ได้ส่งออก หรือ ขอชำระส่วนสูญเสียแบบมีมูลค่า / แบบไม่มีมูลค่า 2. หลังจากขออนุญาต BOI ตามข้อ 1 แล้ว บริษัทสามารถให้ บริษัทประกันเข้ามารับวัตถุดิบได้เลยหรือไม่ หรือต้องดำเนินการทำลายวัตถุดิบดังกล่าวให้สิ้นสภาพก่อน (13 ธ.ค. 2564)

1. ให้บริษัทยื่นเรื่องต่อ BOI เพื่อขอชำระภาษีอากรตามสภาพวัตถุดิบ ณ วันนำเข้า เนื่องจากจะไม่นำวัตถุดิบนั้นไปผลิตส่งออกตามโครงการที่ได้รับส่งเสริม

2. จากนั้นจะต้องยื่นชำระภาษีอากรวัตถุดิบต่อกรมศุลกากรให้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะส่งมอบวัตถุดิบให้กับบริษัทประกันได้

3. เมื่อชำระภาษีอากรวัตถุดิบเสร็จสิ้นแล้ว ให้ยื่นขอปรับยอดวัตถุดิบดังกล่าวต่อสมาคม IC ต่อไป

คำตอบตามข้อ 1 เป็นกรณีที่วัตถุดิบดังกล่าวมีการเสียหาย ไม่ได้มาตรฐานที่บริษัทจะนำไปผลิตเป็นสินค้าได้ แต่วัตถุดิบนั้นอาจนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เช่น นำไปจำหน่ายในตลาดในประเทศหรือตลาดล่าง เป็นต้น จึงเป็นการขอชำระภาษีตามสภาพ ณ วันนำเข้า 

แต่หากวัตถุดิบนั้นเสียหายในสภาพที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ อาจยื่นขออนุญาตทำลายในข่ายส่วนสูญเสียนอกสูตร และหากเศษซากหลังการทำลายมีมูลค่าเชิงพาณิชย์ จะต้องยื่นชำระภาษีอากรตามสภาพเศษ ให้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะส่งมอบให้บริษัทประกันได้ แต่วิธีนี้ แม้ว่าจะมีภาระด้านภาษีอากรถูกกว่าวิธีแรก แต่บริษัทจะมีภาระค่าบริหารจัดการและค่าใช้จ่ายในการทำลาย และค่าจ้าง บริษัท Inspector ในการออกใบรับรองการทำลายส่วนสูญเสีย จึงขึ้นอยู่กับว่าจะตกลงกับผู้ขายวัตถุดิบว่าจะดำเนินการโดยวิธีใด

หากบริษัท a ต้องการนำเข้าอะไหล่ใหม่ สามารถใช้ชื่ออะไหล่เดิมในการขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีได้อยู่หรือไม่ (11 มิ.ย. 2563)

หากอะไหล่ที่จะนำเข้ามามีชื่อตรงกับที่ได้รับอนุมัติบัญชีไว้ก็สามารถนำเข้าโดยใช้สิทธิได้ แต่หากไม่ตรงก็สามารถแก้ไขบัญชีเพื่อเพิ่มรายการอะไหล่ได้

นำเข้าเครื่องจักรหลังเปิดดำเนินการ: หากโครงการเปิดดำเนินการแล้วจะสามารถนำเข้าเครื่องจักร (เก่า) ได้อีกหรือไม่ ซึ่งตอนเปิดดำเนินการบริษัทฯ ได้ขอแก้ไขโครงการขอใช้เครื่องจักรที่ใช้แล้วในโครงการ และในใบเปิดดำเนินการได้ระบุชื่อเครื่องจักรเก่าใช้แล้วไว้ ต่อมาบริษัทฯ ต้องการนำเครื่องจักรเก่าเข้ามาเพิ่มนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในใบเปิดดำเนินการ บริษัทฯ จะสามารถนำเข้าได้หรือไม่ (11 มิ.ย. 2563)

กรณีได้รับอนุญาตเปิดดำเนินการเต็มโครงการแล้ว จะไม่สามารถนำเข้าเครื่องจักรหลักเพิ่มเติมโดยใช้สิทธิประโยชน์ได้อีก

บริษัท A (BOI) ประเภทกิจการผลิตและส่งออก ต่อมา บริษัท B (BOI) ประเภทกิจการผลิตส่งออกเช่นเดียวกันผลิตสินค้าเหมือนกัน ต่อมาพบว่า B วัตถุดิบไม่เพียงพอ ไปขอซื้อวัตถุดิบจาก A มาเพื่อผลิต - แบบนี้สามารถทำได้หรือไม่ - กรณีได้ จะคืน Report V ได้ปกติใช่ไหม

1. แนวทางการพิจารณาของ BOI มีหลักเกณฑ์เพียงว่า ผู้โอนและผู้รับโอนต้องมีบัญชีรายการวัตถุดิบที่จะโอน/รับโอนตรงกัน ยังอยู่ในระหว่างระยะเวลาที่ได้รับสิทธิตามมาตรา 36 และปริมาณที่จะโอนต้องไม่เกินปริมาณสูงสุด (Max Stock) ของผู้รับโอน

2. ในการอนุมัติให้โอน/รับโอนวัตถุดิบ ผู้รับโอนจะต้องมีหนังสือยืนยันว่า หากไม่นำวัตถุดิบที่ได้รับโอนไปผลิตส่งออก ผู้รับโอนจะยินยอมชำระภาษีอากรขาเข้าตามสภาพ ณ วันนำเข้า แทนผู้โอน

ปัญหาเกี่ยวกับการโอน/รับโอนวัตถุดิบ จะเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้โอนเลิกกิจการหลังจากการโอนวัตถุดิบ และผู้รับโอนไม่นำวัตถุดิบนั้นไปผลิตส่งออก กรณีนี้ รัฐจะไม่สามารถจัดเก็บภาษีของวัตถุดิบนั้นได้ เนื่องจากผู้ที่มีภาระภาษี (ผู้นำเข้า/ผู้โอน) ได้เลิกกิจการไปแล้ว การพิจารณาอนุมัติ/ไม่อนุมัติ จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่

หาก BOI พิจารณาไม่อนุมัติให้โอน/รับโอนวัตถุดิบ อาจต้องแก้ปัญหาโดยให้บริษัท A (ผู้นำเข้า) ขออนุญาตส่งวัตถุดิบไปต่างประเทศ (เช่น ส่งไปในเขต Free Zone) จากนั้น บริษัท B ยื่นขอสั่งปล่อยนำเข้าจาก Free Zone

กรณีที่ BOI อนุมัติให้โอน/รับโอนวัตถุดิบ จะออกเป็นหนังสืออนุมัติและบัญชีรายการปริมาณวัตถุดิบที่จะให้โอน/รับโอน ซึ่งบริษัทต้องนำหนังสืออนุมัตินี้ไปยื่นปรับยอดที่สมาคมสโมสรนักลงทุน (IC)

หลังจากที่ส่งข้อมูลลงใน > ส่งข้อมูลระบบ Paperless หลังจากนั้นก็กด > ตรวจสอบข้อมูลระบบ Paperless พอตรวจสอบแล้วระบบแจ้งว่า "รหัสโครงการ xx00xx11 รหัสวัตถุดิบ 000002 ตัดบัญชีแล้วทำให้ยอดคงเหลือ (Balance) ติดลบ 11.7288000 0" ในไฟล์ที่ส่งไป ไม่มีรหัสวัตถุดิบ 00002 แต่ทำไมระบบถึงขึ้นว่าติดลบ? ลองตรวจสอบข้อมูลกับใบขนสินค้าขาออกแล้วว่าตรงกัน แต่ทำไมถึงยังขึ้นว่ายอดคงเหลือติดลบ?

กรณีที่สอบถาม บริษัทยื่นไฟล์ EXPORT.xlsx เพื่อขอตัดบัญชีสินค้าที่ส่งออก และยื่นไฟล์ VENDOR.xlsx เพื่อโอนสิทธิตัดบัญชีวัตถุดิบให้กับ Vendor แต่เกิดยอดติดลบของวัตถุดิบรายการที่ 2 ซึ่งไม่ได้ระบุในไฟล์ VENDOR

การเกิดยอดติดลบรายการที่ 2 อาจเกิดจากสาเหตุดังนี้

1. สินค้าที่ส่งออกตามไฟล์ EXPORT มีการใช้วัตถุดิบรายการที่ 2 ในสูตรการผลิต

2. แต่ปริมาณวัตถุดิบรายการที่ 2 ที่คำนวณได้จากสูตรการผลิตและปริมาณส่งออกสินค้า มีมากกว่ายอดคงเหลือของวัตถุดิบในบัญชี MML

เหตุที่ยอดคงเหลือตามข้อ 2 มีไม่เพียงพอ อาจเนื่องจาก
1. บริษัททำสูตรการผลิตโดยแสดงปริมาณการใช้วัตถุดิบรายการที่ 2 มากเกินกว่าความเป็นจริง หรือ
2. บริษัทซื้อวัตถุดิบรายการที่ 2 จาก Vendor รายอื่น แต่ไม่ระบุการโอนสิทธิในไฟล์ VENDOR หรือ
3. บริษัทนำเข้าวัตถุดิบรายการที่ 2 โดยไม่ได้ใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้า หรือ
4. บริษัทซื้อวัตถุดิบรายการที่ 2 จาก Vendor ที่ไม่ได้ใช้สิทธิ BOI หรือ
5. เกิดจากสาเหตุอื่น

วิธีแก้ไขคือ

1. หากยอดติดลบเกิดจากสูตรการผลิตไม่ถูกต้อง (คือ ระบุปริมาณวัตถุดิบเกินกว่าความเป็นจริง) ให้แก้ไขสูตรการผลิตใหม่ให้ถูกต้อง
2. หากยอดติดลบเกิดจากการไม่ได้โอนสิทธิให้ Vendor BOI ให้ระบุการโอนสิทธิในไฟล์ VENDOR ให้ถูกต้อง
3. หากยอดติดลบเกิดจากการนำเข้าโดยไม่ใช้สิทธิยกเว้นอากร หรือเกิดจากการซื้อในประเทศจาก Vendor ที่ไม่ได้ใช้สิทธิ BOI ให้ระบุการโอนสิทธิในไฟล์ VENDOR ให้ถูกต้อง โดยระบุในช่อง VEN_TYPE, VEN_PRODUCT_CODE และ VEN_ENGLISH_DESC เป็นค่าว่าง

กรณีบริษัทได้รับการส่งเสริมให้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ากำลังการผลิตต่อปี 100,000 เครื่อง โดยเป็นโครงการที่เปิดดำเนินการแล้วและสิทธิ์ CIT สิ้นสุดแล้ว สอบถามว่า กรณีลูกค้าต้องการสินค้าเกินกำลังการผลิตหน้าบัตรส่งเสริมและไลน์การผลิตสามารถ support คำสั่งซื้อของลูกค้าได้ 1. บริษัทสามารถผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าได้หรือไม่ 2. กรณีผลิตได้ บริษัทต้องนำผลิตภัณฑ์ที่เกินไปชำระภาษีในรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือไม่

กำลังผลิตส่วนที่เกินกว่าบัตรส่งเสริม จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นกำลังผลิตเพื่อขอ Max Stock ของวัตถุดิบเพิ่มเติมได้

ถาม Q3.1:

ขอสอบถามเป็นความรู้เพิ่มเติม กรณีถ้าหลุดเอาวัตถุดิบมาตรา 36 มาผลิตส่วนที่เกินกำลังการผลิตซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องส่งออก ถ้าเกิดกรณีนี้ต้องดำเนินการอย่างไร

ตอบ A3.1:

ผลิตภัณฑ์ส่วนที่เกินกว่ากำลังผลิตในบัตรส่งเสริม ไม่สามารถใช้สิทธิได้ตามมาตรา 36 ได้ ต้องชำระอากรขาเข้าตามปกติ กรณีใช้สิทธิรวมกับผลิตภัณฑ์ BOI ไปแล้ว ต้องชำระภาษีตามสภาพ

1. หากเป็นเครื่องจักรเก่า แต่ไม่ใช่เครื่องจักรหลักก็ไม่สามารถนำเข้ามาใช้ได้ในโครงการได้ ใช่ไหม 2. ถ้านำเข้าโดยเสียภาษีเข้ามาสามารถใช้ในโครงการได้หรือไม่ (11 มิ.ย. 2563)

1. หากในบัตรส่งเสริมระบุเงื่อนไขให้ใช้เครื่องจักรเก่า ก็สามารถใช้เครื่องจักรเก่าที่ตรงกับเงื่อนไขในบัตรส่งเสริมได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรหลักหรือไม่ก็ตาม

2. การใช้เครื่องจักรเก่าในโครงการ จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขตามข้อ 1 ไม่ว่าจะนำเข้าโดยยกเว้นภาษีหรือชำระภาษีก็ตาม

ตอนเปิดดำเนินการบริษัทฯ ได้แก้ไขโครงการขอใช้เครื่องจักรที่ใช้แล้วในขั้นเปิดดำเนินการไว้ แต่ใน ใบเปิดดำเนินการมีการระบุชื่อเครื่องจักรเก่าไว้ จะสามารถนำเข้าเครื่องจักรเก่ามาเพิ่มเติมได้หรือไม่ (11 มิ.ย. 2563)

การได้รับใบอนุญาตเปิดดำเนินการจาก BOI เป็นการแสดงว่าบริษัทมีการลงทุนครบถ้วนตามที่ได้รับการส่งเสริมแล้ว (หรือหากไม่ครบตามกำลังผลิตหรือกรรมวิธีผลิตเดิม ก็แสดงว่าได้มีการปรับลดขนาดโครงการให้ตรงกับที่ได้ลงทุนจริงไปแล้ว) จึงไม่อนุญาตให้นำเครื่องจักรเข้ามาเพิ่มเติมโดยได้รับสิทธิยกเว้นภาษี ภายหลังได้รับใบอนุญาตเปิดดำเนินการได้อีก หรือหากจะนำเข้าเองโดยชำระภาษี ก็ไม่นับเป็นขนาดการลงทุน ตามโครงการนั้น

ประเด็นที่บริษัทสอบถาม ขาดข้อมูลสำคัญ เช่น ได้ยื่นแก้ไขโครงการในเรื่องใด เครื่องจักรเก่าที่จะนำเข้าคือเครื่องอะไร เกี่ยวข้องกับการแก้ไขโครงการอย่างไร และ BOI มีหนังสืออนุมัติอย่างไร เป็นต้น

คำตอบข้างต้นเป็นการตอบตามหลักการปกติ แต่หากไม่ชัดเจน ขอให้สอบถามเพิ่มเติมโดยให้ข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง

ขอคำแนะนำ ถ้าบริษัทจะยื่นขอแก้ไขบัญชีปริมาณสต็อกสูงสุดฯ ในระบบ อยากทราบว่าข้อมูลในไฟล์สูตรอ้างอิงปกติ บริษัทต้องคีย์ข้อมูลเฉพาะรายการที่ต้องการขอแก้ไขปริมาณฯ หรือบริษัทจะต้องคีย์ปริมาณของวัตถุดิบทุกรายการใส่เข้าไป เช่น ต้องการขอแก้ไขปริมาณของกรุ๊ป ที่ 2 และ 4 ส่วนกรุ๊ปอื่นไม่แก้ไข บริษัทฯ จะคีย์ข้อมูลเฉพาะสูตรอ้างอิงที่ใช้เฉพาะวัตถุดิบรายการที่ 2 และ 4 เท่านั้น ได้หรือไม่

การแก้ไขบัญชีปริมาณสต็อกสูงสุด มีหลักการเช่นเดียวกันกับการขออนุมัติบัญชีปริมาณสต็อกสูงสุด คือ บริษัทจะยื่นสูตรอ้างอิงจำนวนกี่สูตรก็ได้ แต่จะต้องมีกำลังผลิตรวมกันเท่ากับ 4 เดือนของกำลังผลิตตามบัตรส่งเสริม จากนั้นระบบจะคำนวณปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ ตามสูตรอ้างอิงนั้นๆ เพื่อนำมาเป็นบัญชีปริมาณสต็อกสูงสุด

ตามตัวอย่างที่สอบถาม บริษัทจะไม่สามารถขอแก้ไขบัญชีปริมาณสต็อกฯ เพื่อขอเพิ่มปริมาณวัตถุดิบเฉพาะรายการที่ 2 และ 4 ได้ เนื่องจากบริษัทจะต้องยื่นสูตรอ้างอิง (กี่สูตรก็ได้) เพื่อให้ครอบคลุมรายการวัตถุดิบทุกรายการ และจะต้องมีการคำนวณปริมาณสต็อกฯ ใหม่

ดังนั้น หากเพิ่มปริมาณวัตถุดิบรายการที่ 2 และ 4 อาจทำให้ปริมาณวัตถุดิบรายการอื่นลดลงก็ได้ ขึ้นอยู่กับสูตรอ้างอิงและปริมาณผลิตที่บริษัทจะยื่นขออนุมัติบัญชีปริมาณสต็อกฯ

สอบถามเรื่องการสลักหลังใบขนขาออกของสินค้าที่ส่งออก ในเรื่องการโอนสิทธิยังจำเป็นต้องทำอยู่หรือไม่

หากเป็นการโอนสิทธิการตัดบัญชีสินค้าส่งออก ให้กับบริษัทที่เป็น BOI เพื่อใช้สิทธิตัดบัญชีวัตถุดิบ ผู้ส่งออกต้องระบุเลขนิติบุคคล 13 หลัก ของบริษัทผู้รับโอน ในช่องหมายเหตุส่งกรมศุลกากร ของสินค้าแต่ละรายการ ในใบขนอิเล็กทรอนิกส์ รายละเอียดตาม ประกาศ สกท ที่ ป.2/2564 ข้อ 8 (1.4) โดยไม่ได้ใช้การสลักหลังใบขนแล้ว

ถาม Q1.1:

หากเป็นในรูปแบบการส่งออกส่วนสูญเสียนอกสูตร (SCRAP) จะยังเป็นการสลักใบขนขาออกหลังโอนสิทธิหรือไม่

ตอบ A1.1:

- การตัดบัญชีส่วนสูญเสียกรณีส่งออก ปัจจุบันยังไม่เป็นระบบ paperless
- ให้ผู้ส่งออก (บริษัทที่เกิดส่วนสูญเสีย) ยื่นหลักฐานส่งออกเพื่อตัดบัญชีกับ BOI พร้อมกับทำเรื่องขอโอนสิทธิตัดบัญชีให้กับ vender โดยไม่ใช้วิธีสลักหลังใบขนส่งออก เพื่อโอนใบขนให้ vender
อยากสอบถามเป็นความรู้ ถ้าบริษัทฯ มีโครงการ BOI 2 โครงการ - โครงการที่ 1 ดำเนินการผลิตสินค้าปกติ เปิดดำเนินการแล้ว - โครงการที่ 2 ยกเลิกโครงการ ส่งออกเครื่องจักรไปต่างประเทศ ต่อมา โครงการที่ 1 มีความต้องการใช้เครื่องจักรเพิ่มขึ้นจากเดิม จึงไปซื้อเครื่องจักรที่เคยส่งออกไปต่างประเทศของโครงการที่ 2 (เป็นเครื่องจักรชุดเดียวกัน) และนำเข้าแบบเสียภาษีเข้ามาใช้ในโครงการที่ 1 ได้หรือไม่ มีประกาศที่สามารถอ้างอิงเงื่อนไขนี้ได้หรือไม่ (11 มิ.ย. 2563)

โครงการที่ได้รับส่งเสริมต้องใช้เครื่องจักรใหม่ หรือเครื่องจักรเก่าเฉพาะที่นำเข้าจากต่างประเทศตามหลักเกณฑ์ที่ BOI กำหนด

เหตุผลที่ไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องจักรเก่าในประเทศ เนื่องจากเป็นเครื่องจักรที่เคยใช้เชิงพาณิชย์ในประเทศแล้ว การนำเครื่องจักรเก่าดังกล่าวมาใช้อีกจึงไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์เพียงพอที่จะให้ได้รับสิทธิประโยชน์อีก และอาจเป็นเครื่องจักรเก่าซึ่งเคยใช้งานในโครงการ BOI มาก่อนแล้ว จึงจะเป็นการเวียนเทียนนำเครื่องจักรเดียวกันมายื่นขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้หลายครั้ง

กรณีนำเข้าเครื่องจักรเก่าจากต่างประเทศ หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นเครื่องจักรที่เคยใช้งานเชิงพาณิชย์ในประเทศมาก่อนก็จะไม่อนุญาตให้ใช้ในโครงการที่ได้รับส่งเสริม

พอจะมีประกาศฯ ที่อ้างอิงได้หรือไม่ (11 มิ.ย. 2563)

ไม่มีประกาศ เครื่องจักรเก่าในประเทศที่ส่งไปต่างประเทศ แล้วนำกลับเข้ามาใหม่ก็ยังคงเป็นเครื่องจักรเครื่องเดิมซึ่งไม่อนุญาตให้ใช้ จึงคิดว่าไม่จำเป็นจะต้องมีประกาศ

ขออภัยครับ ไม่มีข้อมูลส่วนนี้ ในภาษาที่ท่านเลือก !

Sorry, There is no information support your selected language !

Download และ ติดตั้งโปรแกรมอ่าน PDF

Download PDF Reader

Site map