ใบรับรองจาก Inspector เป็นการรับรองส่วนสูญเสียที่ถูกทำลายเป็นเศษซากในครั้งนั้นๆ ดังนั้นปริมาณที่จะยื่นขอชำระภาษีหรือส่งออกเศษซาก จึงต้องตรงกับชนิดและปริมาณตามใบรับรอง
วิธีการจัดการกับส่วนสูญเสียนอกสูตรการผลิต
"ส่วนสูญเสียนอกสูตรการผลิต" นอกจากจะหมายถึง เศษวัตถุดิบที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตสินค้าแล้ว ยังหมายถึง วัตถุดิบที่เหลือเกินความต้องการ วัตถุดิบที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ วัตถุดิบที่ไม่ได้คุณภาพ วัตถุดิบที่ชำรุดเสียหายระหว่างการผลิต เศษวัตถุดิบที่เหลือจากการผลิต ตลอดจนผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ผลิตเสร็จแล้วแต่ไม่ได้คุณภาพอีกด้วย
ส่วนสูญเสียนอกสูตรการผลิตนี้ นอกจากจะขอให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตจาก BOI ทำการตรวจสอบ เพื่อนำหลักฐานมาตัดบัญชี (ปรับยอด) ได้แล้ว ยังสามารถตัดบัญชีด้วยวิธีการอื่น ๆ ได้อีก โดยมีวิธีดำเนินการ ดังนี้
ขอส่งออกไปต่างประเทศ
1.1 ต้องยื่นขออนุญาตก่อนการส่งส่วนสูญเสียออกไปต่างประเทศ
1.2 กรณีที่ส่วนสูญเสียไม่อยู่ในรูปของวัตถุดิบที่นำเข้า และไม่สามารถตรวจสอบปริมาณจากใบขนขาออกได้โดยตรงจะต้องให้บริษัทที่ได้รับมอบหมายจาก BOI ให้ตรวจสอบก่อนการส่งออก
1.3 เมื่อส่งส่วนสูญเสียไปต่างประเทศแล้ว ให้ยื่นเรื่องต่อ BOI เพื่อขออนุมัติตัดบัญชีส่วนสูญเสีย
1.4 เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว ให้ยื่นเรื่องที่สมาคมสโมสรนักลงทุน (IC) เพื่อปรับยอดวัตถุดิบต่อไป
ขออนุมัติทำลาย
2.1 ยื่นขออนุมัติวิธีทำลายส่วนสูญเสีย แต่หากในครั้งต่อ ๆ ไป หากจะทำลายส่วนสูญเสียชนิดเดิม ด้วยวิธีการเดิมที่ได้รับอนุมัติไว้แล้ว ก็ไม่ต้องยื่นขออนุมัติวิธีทำลายอีก
2.2 การทำลาย จะต้องทำให้ส่วนสูญเสียอยู่ในสภาพเศษซากจนไม่เหลือสภาพเดิม และเศษซากจากการทำลายจะต้องมีวิธีกำจัดที่เหมาะสมไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
2.3 ติดต่อบริษัทที่ได้รับมอบหมายจาก BOI เพื่อให้ตรวจสอบรับรองขั้นตอนการทำลายให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุมัติและตรวจสอบรับรองชนิดและปริมาณเศษซากที่เกิดจากการทำลาย
2.4 ยื่นเรื่องต่อ BOI เพื่อขออนุมัติตัดบัญชีส่วนสูญเสีย
2.5 กรณีที่เศษซากมีมูลค่าเชิงพาณิชย์ BOI จะออกหนังสือเรียกเก็บภาษีอากรตามสภาพเศษซาก
2.6 ยื่นเรื่องต่อสมาคมสโมสรนักลงทุน (IC) เพื่อขอปรับยอดวัตถุดิบ โดยแนบหลักฐานการชำระภาษี (เฉพาะกรณีที่มีเงื่อนไขให้ชำระภาษีอากรตามสภาพเศษซากก่อน)
ขอบริจาค
3.1 จะต้องยื่นขออนุมัติจาก BOI ก่อนที่จะทำการบริจาค
3.2 จะต้องบริจาคให้กับหน่วยงานราชการของรัฐบาล หรือองค์การสาธารณกุศลที่ BOI ให้ความเห็นชอบเท่านั้น โดยหน่วยงานที่จะรับบริจาคจะต้องนำส่วนสูญเสียดังกล่าวไปใช้เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานนั้นได้โดยตรง
3.3 จะต้องนำหนังสือรับรองของผู้รับบริจาค (ต้นฉบับ) ซึ่งแสดงชนิดและปริมาณส่วนสูญเสียที่รับบริจาคมายื่นขอตัดบัญชีต่อ BOI
3.4 ยื่นขอปรับยอดวัตถุดิบที่สมาคมสโมสรนักลงทุน (IC)
ตารางสรุปขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับส่วนสูญเสีย
ขั้นตอนที่ 1 การขออนุมัติวิธีการทำลายส่วนสูญเสีย (นอกสูตร)
เอกสารหลักฐานที่ใช้ประกอบการพิจารณามีดังนี้
สำหรับบริษัท
1.1 หนังสือบริษัทฯ ขออนุมัติวิธีการทำลายส่วนสูญเสีย
1.2 ใบสรุปส่วนสูญเสียแต่ละรายการพร้อมระบุวิธีการทำลาย จำนวน 2 ชุด
1.3 ภาพถ่ายส่วนสูญเสียแยกรายการก่อนทำลาย จำนวน 1 ชุด
หมายเหตุ - ส่วนสูญเสียที่เคยได้รับอนุมัติวิธีการทำลายแล้วและจะทำลายด้วยวิธีเดิมที่เคยได้รับอนุมัติไปแล้ว
ไม่ต้องยื่นเอกสารตามขั้นตอนที่ 1 เพื่อขออนุมัติวิธีการทำลายอีก
- ส่วนสูญเสียที่ขออนุมัติวิธีทำลายไม่ต้องใส่ปริมาณ และไม่ต้องบอกว่าให้ใครเป็นผู้ทำลาย
ขั้นตอนที่ 2 การขออนุมัติตัดบัญชีส่วนสูญเสีย (นอกสูตร) กรณีทำลาย
เอกสารหลักฐานที่ใช้ประกอบการพิจารณามีดังนี้
สำหรับบริษัท
2.1 หนังสือบริษัทฯ ขออนุมัติตัดบัญชีส่วนสูญเสีย (นอกสูตร) กรณีทำลาย
2.2 สำเนาหนังสือที่ได้รับอนุมัติวิธีทำลายส่วนสูญเสียนอกสูตร
2.3 ภาพถ่ายส่วนสูญเสียแยกรายการก่อนทำลายและหลังการทำลาย จำนวน 3 ชุด
2.4 เอกสารรับรองปริมาณส่วนสูญเสีย การตรวจสอบการทำลาย ภาพถ่ายหลังการทำลาย และบัญชีสรุปรายการวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นจากส่วนสูญเสีย (เพื่อใช้ตัดบัญชี) ที่ออกให้โดยบริษัทตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงาน
2.5 รายการตัดบัญชีวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นกรณีเศษซากไม่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ จำนวน 2 ชุด
2.6 รายการตัดบัญชีวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นกรณีเศษซากมีมูลค่าเชิงพาณิชย์ จำนวน 2 ชุด
2.7 หากมีการโอนสิทธิการตัดบัญชีให้ VENDOR ในประเทศ ให้ใช้ จำนวน 2 ชุด
ทั้งนี้ ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับส่วนสูญเสียจาก http://www.faq108.co.th/common/topic/boiform.php และ http://www.faq108.co.th/common/topic/scrap36.php
การส่งคืนอะไหล่ของเครื่องจักรไปต่างประเทศ หากเป็นอะไหล่ที่นำเข้ามาโดยใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 28 (หรือ29) ให้ยื่นขออนุญาตบนระบบ eMT ด้วย
1. ใบขนขาเข้าที่เคยยื่นขออนุมัติสั่งปล่อยคืนอากรแล้ว (แม้จะสั่งปล่อยคืนอากรไม่ครบตามจำนวนหรือไม่ครบทุกรายการ) ไม่สามารถจะนำมายื่นขออนุมัติสั่งปล่อยคืนอากร (ส่วนที่สั่งปล่อยไม่ครบ) ได้อีก
2. หากต้องการสั่งปล่อยคืนอากรให้ครบทุกรายการหรือเต็มตามจำนวน จะต้องยื่นขอยกเลิกการสั่งปล่อยคืนอากรในครั้งแรกก่อน (และดำเนินการชำระอากรต่อกรมศุลกากร) จากนั้นจึงจะสามารถนำใบขนขาเข้าฉบับนั้นมายื่นสั่งปล่อยคืนอากรได้ใหม่
กรณีที่สอบถาม เป็นการโอนวัตถุดิบจากโครงการหนึ่ง ไปยังอีกโครงการหนึ่ง ภายใต้นิติบุคคลเดียวกัน ซึ่งหากวัตถุดิบที่จะโอน มีชื่อในบัญชีวัตถุดิบของทั้ง 2 โครงการ ก็สามารถยื่นขออนุญาตโอน/รับโอนได้
กรณีที่ได้รับใบอนุญาตเปิดดำเนินการครบตามโครงการแล้ว แต่ต่อมา เครื่องจักรเสียหายใช้งานไม่ได้บริษัทสามารถซื้อเครื่องจักรใหม่เข้ามาทดแทนได้ แต่จะไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร (เพราะระยะเวลายกเว้นอากรจะสิ้นสุดไปแล้ว) การซื้อเครื่องจักรใหม่มาทดแทนนี้ ไม่ต้องขออนุญาตจาก BOI โดยเครื่องจักรใหม่ที่ซื้อมาเพิ่มเติมนี้ บริษัทสามารถบันทึกบัญชีเป็นสินทรัพย์ของโครงการที่ได้รับส่งเสริมอยู่เดิมได้ และกำลังผลิตที่เกิดขึ้นจากเครื่องจักรใหม่ที่ซื้อมาเพิ่มนี้ ก็สามารถใช้สิทธิตามโครงการที่ได้รับส่งเสริมอยู่เดิมได้ แต่จะไม่แก้ไขเพิ่มเติมกำลังผลิต และไม่แก้ไขเพิ่ม cap วงเงินยกเว้นภาษีให้ คือ ยังต้องใช้กำลังผลิต และ cap วงเงินยกเว้นภาษีตามเดิม
คำถามไม่ชัดเจน เครื่องจักรคืออะไร เป็นเครื่องจักรหลัก หรือแม่พิมพ์ หรืออะไร ขอตอบในภาพรวม เพื่อเป็นแนวทางไปเปรียบเทียบต่อ ดังนี้
1. A (BOI) ต้องการซื้อชิ้นส่วนพลาสติกจาก B (BOI) โดย A จะเป็นผู้ลงทุนแม่พิมพ์ และนำไปจ้างให้ B ฉีดชิ้นส่วนพลาสติกให้
กรณีนี้ A สามารถขอแก้ไขกรรมวิธีผลิต เพื่อให้มีขั้นตอนการนำแม่พิมพ์ไปว่าจ้างผลิตชิ้นส่วน เมื่อได้รับอนุมัติแก้ไขกรรมวิธีผลิตดังกล่าว A จะสามารถนำเข้าแม่พิมพ์โดยใช้สิทธิของ A จากนั้นให้ยื่นขออนุญาตนำแม่พิมพ์ไปให้ผู้อื่นใช้ เพื่อผลิตชิ้นส่วนให้กับ A2. B (BOI : ผลิตชิ้นส่วนพลาสติก) นำแม่พิมพ์เข้ามาโดยใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากร เพื่อผลิตชิ้นส่วนพลาสติกจำหน่ายให้ A หาก B จะขายแม่พิมพ์ให้กับ A B จะต้องยื่นขออนุญาตจำหน่ายเครื่องจักร(แม่พิมพ์) และจะต้องชำระภาษีอากรตามสภาพ
การขอสั่งปล่อยคืนอากรขาเข้าวัตถุดิบ
1. ต้องได้รับอนุมัติบัญชีรายการวัตถุดิบแล้ว และตรงกับรายการที่ได้รับอนุมัติในบัญชี
2. ต้องกำหนดวันที่ขอใช้สิทธิครั้งแรกแล้ว โดยรายการที่จะขอสั่งปล่อยคืนอากรต้องไม่นำเข้าก่อนวันที่เริ่มใช้สิทธิครั้งแรก
กรณีเป็นกิจการผลิต การอนุมัติบัญชีรายการวัตถุดิบ และการอนุมัติสั่งปล่อยวัตถุดิบจะพิจารณาอนุญาตในกรณีที่มีการนำเข้าเครื่องจักรเข้ามาแล้ว โดยอาจจะยังไม่ได้เริ่มผลิตหรือส่งออกก็ได้
กรณีผลิตสินค้าสำเร็จรูป โดยมีการใช้วัตถุดิบที่นำเข้าโดยใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้าตามมาตรา 36 หากจะไม่ส่งออกสินค้าดังกล่าว จะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
1. กรณีเป็นส่วนสูญเสีย (รวมถึงสินค้าด้อยคุณภาพ) ตาม ประกาศ ป.5/2543
1.1 ขอทำลาย และหากเศษซากหลังการทำลายมีมูลค่าเชิงพาณิชย์ จะต้องชำระภาษีตามสภาพเศษซาก
1.2 ขอบริจาคให้ส่วนราชการ องค์การของรัฐ หรือองค์การสาธารณกุศล โดยไม่มีภาระภาษี
2. กรณีไม่เป็นส่วนสูญเสีย
1.1 ขอชำระภาษีตามสภาพสินค้าสำเร็จรูป และชำระภาษีให้เสร็จสิ้นก่อน จึงจะนำไปจำหน่ายได้ (แต่ต้องเป็นกิจการที่ส่งออกเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น) ตาม ประกาศ ป.5/2541
1.2 ขอชำระภาษีวัตถุดิบและ VAT ตามสภาพ ณ วันนำเข้า
ตอบคำถามตามที่สอบถาม
1. การบริจาค หากบริจาคให้กับส่วนราชการ องค์การสาธารณกุศล ฯลฯ แม้ว่าจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ แต่น่าจะไม่ได้รับอนุมัติ เนื่องจากอาจมีปัญหาด้านสุขอนามัย
2. การแจกเป็นสวัสดิการพนักงาน ไม่อยู่ในข่ายอนุมัติ จะต้องชำระภาษีตามข้อ 2.1 หรือ 2.2 ก่อน จึงจะดำเนินการได้
บริษัทเทรดดิ้ง นำเข้าเครื่องจักร โดยชำระอากรขาเข้าและ vat ตามปกติ จากนั้นจำหน่ายให้กับ บริษัทคุณที่เป็น BOI กรณีนี้ บริษัทสามารถซื้อเครื่องจักรจากเทรดดิ้งดังกล่าว เพื่อมาใช้ในโครงการที่ได้รับส่งเสริมได้ แต่จะต้องเป็นเครื่องจักรใหม่เท่านั้น และบริษัทก็ไม่ต้องแจ้งหรือขออนุญาตใดๆจาก BOI เพราะไม่ขัดเงื่อนไขใดๆ แต่ในกรณีนี้ บริษัทไม่ใช่ผู้นำเข้าโดยตรง จึงไม่สามารถใช้สิทธิยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าเครื่องจักรดังกล่าวได้
การซื้อเครื่องจักรใหม่หลังเปิดดำเนินการ ไม่ต้องขออนุญาต เนื่องจากไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร (ระยะเวลานำเข้าเครื่องจักรสิ้นสุดแล้ว) เครื่องจักรใหม่ที่ซื้อเพิ่มเติมภายหลังนี้ หากจะใช้ในโครงการที่ได้รับส่งเสริม ก็ต้องลงบัญชีเป็นสินทรัพย์ของโครงการที่ได้รับส่งเสริมนั้น แต่จะไม่ให้แก้ไขกำลังผลิตในบัตรส่งเสริม และไม่ให้แก้ไข cap วงเงินยกเว้นภาษีเงินได้ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกิจการที่มีประกาศกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เช่น กิจการผลิตเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
การคำนวณ Max Stock 4 เดือน ให้คำนวณดังนี้
1. เลือกผลิตภัณฑ์ 1 โมเดล (สมมุติว่าคือ A) เพื่อเป็นสินค้าต้นแบบในการคำนวณ Max Stock
2. แสดงรายละเอียดปริมาณการใช้วัตถุดิบ (รวมส่วนสูญเสียในสูตร) ที่ใช้ผลิตสินค้า A จำนวน 1 ชิ้น เช่น ใช้วัตถุดิบดังนี้
- A1 จำนวน 5 ชิ้น
- A2 จำนวน 10 กรัม
3. คำนวณกับกำลังผลิต 4 เดือนในบัตรส่งเสริม (เช่น หากบัตรส่งเสริมระบุกำลังผลิตเป็น 1,200,000 ชิ้น ต่อปี ดังนั้น กำลังผลิต 4 เดือน จะเป็น 1,200,000 / 3 = 400,000 ชิ้น) จะได้ปริมาณ Max Stock วัตถุดิบ 4 เดือน ดังนี้
- A1 = 5 x 400,000 = 2,000000 ชิ้น ต่อ 4 เดือน
- A2 = 10 x 400,000 = 4,000000 กรัม ต่อ 4 เดือน
หากมีผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ต้องการคำนวณ Max Stock มากกว่า 1 โมเดล เช่น มี โมเดล A และ B ก็สามารถทำได้ แต่กำลังผลิตของ A และ B ที่จะนำมาคำนวณตามข้อ 3 ต้องรวมกันไม่เกินกำลังผลิต 4 เดือน ตามบัตรส่งเสริม
การแก้ไขหน่วยวัตถุดิบในบัญชี Max Stock สามารถทำได้ โดยให้ตรวจสอบดังนี้
1. หน่วยนับใหม่ที่จะขอแก้ไข ต้องตรงกับกรรมวิธีการผลิตที่ได้รับอนุมัติ เช่น ถ้ากรรมวิธีการผลิตที่ได้รับอนุมัติ ไม่มีขั้นตอนการตัดสายไฟ จะขออนุมัติหน่วยนับของสายไฟเป็นความยาวไม่ได้
2. เคยมีการใช้สิทธิสั่งปล่อยวัตถุดิบรายการนั้นแล้วหรือไม่ / และเคยมีการขออนุมัติสูตรการผลิตที่มีการใช้วัตถุดิบรายการนั้นแล้วหรือไม่
2.1 หากเคยใช้สิทธิสั่งปล่อยวัตถุดิบรายการนั้น หรือ เคยขออนุมัติสูตรการผลิตที่มีการใช้วัตถุดิบรายการนั้นไว้แล้ว จะแก้ไขหน่วยนับไม่ได้ ต้องใช้วิธี "เพิ่มรายการวัตถุดิบ" โดยเป็นชื่อเดียวกับที่อนุมัติไว้เดิม แต่เป็นคนละหน่วยนับ และต้องมีการคำนวณ Max Stock ของวัตถุดิบที่มี 2 หน่วยนับนี้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง
2.2 หากไม่เคยใช้สิทธิสั่งปล่อยวัตถุดิบรายการนั้น และ ไม่เคยได้รับอนุมัติสูตรการผลิตที่มีการใช้วัตถุดิบรายการนั้นสามารถแก้ไขหน่วยนับ และ Max Stock ของวัตถุดิบรายการนั้นได้ โดยไม่ต้องเพิ่มเป็นรายการใหม่
การซื้อเครื่องจักรในประเทศ ต้องเป็นเครื่องจักรใหม่เท่านั้น เครื่องจักรที่ซื้อในประเทศ จะไม่ยื่นขออนุมัติบัญชีก็ได้ แต่หากในอนาคตจำเป็นต้องนำเข้าอะไหล่ของเครื่องจักรดังกล่าว ให้ยื่นขออนุมัติบัญชีเครื่องจักรรายการนั้นเผื่อไว้ด้วย โดยระบุจำนวนเป็น 0.5 set ซึ่งจะสั่งปล่อยเครื่องจักรไม่ได้ แต่สามารถขออนุมัติบัญชีอะไหล่เพื่อโยงกับเครื่องจักรรายการนั้นได้ การยื่นขออนุมัติบัญชีรายการเครื่องจักรที่ซื้อในประเทศ ไม่ต้องแนบเอกสารใดเป็นพิเศษ การแนบเอกสาร จะเป็นกรณีขออนุมัติบัญชีเครื่องจักรเก่า (แนบใบรับรองประสิทธิภาพ) หรือการขออนุมัติเครื่องจักรที่เป็น Negative List (แนบ Specification ว่าเป็นรุ่นที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ)
1. ในการขอรับการส่งเสริม จะซื้อเครื่องจักรหลักจากในประเทศหรือนำเข้าจากต่างประเทศก็ได้ โดยสามารถนับเป็นกำลังผลิตของโครงการได้ทั้งสิ้น แต่มีเงื่อนไขดังนี้
1.1 กรณีซื้อเครื่องจักรในประเทศ
- ต้องเป็นเครื่องจักรใหม่เท่านั้น
1.2 กรณีซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศ
- หากเป็นเครื่องจักรเก่า ต้องมีอายุไม่เกิน 10 ปี และต้องมีใบรับรองประสิทธิภาพเครื่องจักรเก่า
- เครื่องจักรเก่าอายุเกิน 5 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี จะไม่นับเป็นเงินลงทุนสำหรับคำนวณวงเงินการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
- หากเครื่องจักรดังกล่าวมีการผลิตในประเทศ แต่บริษัทต้องการนำเข้าจากต่างประเทศ จะไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
2. กิจการประเภท 4.10 การผลิตรถไฟหรือรถไฟฟ้าหรืออุปกรณ์หรือชิ้นส่วน (เฉพาะระบบราง) ตามประกาศฉบับปัจจุบัน เป็นประเภท A2 ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 8 ปี
บริษัทได้รับอนุมัติกรรมวิธีการผลิต เป็นการนำชิ้นส่วนมาพันขดลวด จึงมีข้อสังเกตดังนี้
- สายไฟ ไม่ใช่ชิ้นส่วน การอนุมัติ Max Stock เป็นสายไฟ จึงอาจไม่สอดคล้องกับกรรมวิธีการผลิต
- เครื่องตัดสายไฟ ที่ได้รับอนุมัติในบัญชีเครื่องจักร ไม่สอดคล้องกับกรรมวิธีการผลิต
ตอบคำถามตามที่บริษัทสอบถามเพิ่มเติม
1. การแก้ไข Max Stock โดยเปลี่ยนหน่วย "ชิ้น" เป็น "เมตร" เนื่องจากจะนำมาตัด และพันขดลวด จะสอดคล้องกับกรรมวิธีผลิต หรือต้องแก้ไขกรรมวิธีผลิต ขอให้สอบถามกับ จนท BOI ผู้รับผิดชอบโครงการของบริษัทโดยตรง
2. เนื่องจากเคยมีการสั่งปล่อยวัตถุดิบสายไฟ ที่มีหน่วยเป็น "ชิ้น" ไปแล้ว และมีการอนุมัติสูตรและตัดบัญชีของสายไฟที่มีหน่วยเป็น "ชิ้น" ไปแล้ว จึงไม่สามารถแก้ไขหน่วยของสายไฟ จาก "ชิ้น" เป็น "เมตร" ได้ หากจะขออนุมัติบัญชีวัตถุดิบสายไฟ ที่มีหน่วยเป็น "เมตร" จะต้องขอแก้ไขบัญชีวัตถุดิบ โดยการเพิ่มรายการใหม่ คือ สายไฟ หน่วยเป็น "เมตร" ทั้งนี้ จะต้องลดปริมาณ Max Stock ของสายไฟหน่วยเป็น "ชิ้น" เพื่อทอนไปเป็น Max Stock ของสายไฟ หน่วยเป็น "เมตร" ตามที่แจ้งไปแล้ว
ให้ยื่นขออนุมัติ Max Stock ต่อ BOI โดยมีชื่อหลักเป็น Cable ชื่อรองเป็น Cable และยื่นสั่งปล่อยวัตถุดิบผ่านระบบ RMTS โดยกรอกข้อมูลในช่อง Desc_1 ตามชื่อรอง คือ Cable และในช่อง Desc_2 ตามชื่อโมเดล คือ UL 2517 20AWGx3C (S07-3521-1.1)
กิจการ 2.9.3 การผลิตเหล็กทรงยาวสำหรับงานอุตสาหกรรม ได้รับสิทธิประโยชน์ในกลุ่ม A4 คือ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรตามมาตรา 28 และยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบตามมาตรา 36
ตอบคำถามตามนี้
1.บริษัทสามารถซื้อเครื่องจักรที่ผลิตหรือประกอบในประเทศได้ แต่จะต้องเป็นเครื่องจักรใหม่เท่านั้น
2.การซื้อเครื่องจักรในประเทศ ไม่สามารถใช้สิทธิมาตรา 28 เพื่อยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มได้ แต่จะนับมูลค่าเครื่องจักรเป็นมูลค่าการลงทุนของโครงการ เพื่อคำนวณวงเงินที่จะให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31
3.กรณีเป็นเครื่องจักรที่มีผลิตหรือประกอบในประเทศ หากบริษัทจะนำเครื่องจักรเข้ามาจากต่างประเทศ จะไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 28
การขอจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ เมนูในระบบ eMT ไม่มีช่องให้ติ๊กว่า "ชื่อไม่ตรง" จึงจะต้องเป็นการจำหน่ายเครื่องจักรทั้งเครื่อง เท่านั้น กรณีที่จะขอจำหน่ายชิ้นส่วนเครื่องจักรในประเทศ ให้เลือกเมนู "จำหน่ายเครื่องจักร / นอกระบบ" (แม้ว่าจะนำเข้ามาโดยระบบ eMT ก็ตาม) และกรอกข้อมูลชิ้นส่วนเครื่องจักรที่จะขอจำหน่าย