Chat
x
toggle menu
toggle menu

Press Release Detail

บีโอไอเคาะมาตรการกระตุ้นลงทุนปี 65 หนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ – ดึงดูดการลงทุนกลุ่ม Deep Tech

บอร์ดบีโอไอไฟเขียวมาตรการส่งเสริมการลงทุนปี 65 กระตุ้นโครงการลงทุน สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด พร้อมส่งเสริมย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี AIT และ วว. มุ่งดึงดูดการลงทุนเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ต่อยอดนวัตกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต เพื่อหนุนไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาค

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ขยายมาตรการกระตุ้นการลงทุน ขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง รวมทั้งกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เพื่อต่อยอดพัฒนานวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) พัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ขยายมาตรการกระตุ้นการลงทุนและมาตรการ EEC ถึงสิ้นปี 65

มาตรการกระตุ้นการลงทุนปี 2565 บีโอไอมุ่งส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะมีผลในวงกว้างต่อการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 โดยมาตรการนี้ครอบคลุมกิจการที่ใช้เทคโนโลยี ขั้นสูง (A1, A2 และ A3) และต้องเป็นโครงการที่มีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายใน 12 เดือนหลังออกบัตรส่งเสริม โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมได้ตั้งแต่วันทำการแรกของปี 2565 ถึงวันทำการสุดท้ายของ ปี 2565

นอกจากนี้ ให้ขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จนถึงวันทำการสุดท้ายของปี 2565 ยกเว้นโครงการที่ตั้งในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ (พัทยา) (EECmd) และการแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) (EECg) สามารถยื่นคำขอรับ การส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการนี้ได้โดยไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในการยื่นคำขอ

ภายใต้มาตรการอีอีซี โครงการลงทุนในพื้นที่อีอีซี สามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์พื้นฐานได้ใน 2 กรณี คือ เกณฑ์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเกณฑ์ที่ตั้ง โดยสามารถเลือกดำเนินการทั้งสองเกณฑ์ควบคู่กันเพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสูงสุด หรือเลือกเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งก็ได้

กรณีเกณฑ์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หากมีการพัฒนาบุคลากรไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น โครงการ Work-integrated Learning (WiL) สหกิจศึกษา ทวิภาคี หรือรูปแบบอื่นที่คณะกรรมการเห็นชอบ จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมใน 2 ลักษณะแตกต่างกันตามกลุ่มประเภทกิจการ คือ1) กิจการในกลุ่มที่ได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 - 8 ปี จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 เพิ่มเติม 3 ปี 2) กิจการในกลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมายและกิจการสนับสนุนจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 2 ปี

กรณีเกณฑ์ที่ตั้ง หากตั้งโครงการในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม คือ 1) กิจการในกลุ่มที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 - 8 ปี จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 เพิ่มเติม 2 ปี 2) กิจการในกลุ่มเทคโนโลยีเป้าหมายและกิจการสนับสนุนจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 1 ปี นอกจากนี้ กรณีตั้งในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 1 ปี ด้วย

กระตุ้นลงทุนย่านนวัตกรรมการแพทย์ ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอยังมีมติเห็นชอบให้พื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ตามประกาศของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นเขตส่งเสริมการลงทุน เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมีพื้นที่ศูนย์กลางนวัตกรรมและการวิจัยทางการแพทย์ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรม และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ระหว่างผู้ประกอบการกับสถาบันหรือหน่วยงานของภาครัฐ เช่น สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ และสถาบันวิจัย เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุน จะต้องมีความร่วมมือ 2 รูปแบบ ประกอบด้วย 1) ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ได้แก่ ความร่วมมือในโครงการ Work-integrated Learning (WIL) สหกิจศึกษา และทวิภาคี หรือความร่วมมือเพื่อพัฒนาบุคลากรไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่น ๆ ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 2) ความร่วมมือกับสถาบันหรือหน่วยงานของภาครัฐ เช่น โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย เป็นต้น ในการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) เช่น MedTech เป็นต้น โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ

กำหนดเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มเติม ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอมีมติเห็นชอบให้สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) และอาคารศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประยุกต์สู่ SMEs สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ณ เทคโนธานี เป็นเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่รองรับการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนา และการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการวิจัย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น การผลิตชิ้นส่วนระบบราง การผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าหรือยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมและบริการ เพื่อสุขภาพ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต อุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ อุตสาหกรรมชีวภาพ รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยผู้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว จะได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ คือ ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี หรือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 2 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทกิจการ

ขออภัยครับ ไม่มีข้อมูลส่วนนี้ ในภาษาที่ท่านเลือก !

Sorry, There is no information support your selected language !

Download และ ติดตั้งโปรแกรมอ่าน PDF

Download PDF Reader

Site map