Chat
x
toggle menu
toggle menu

Press Release Detail

ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย MOVE ON เชื่อมโยงอุตฯ สู่ซัพพลายเชนโลก

ผลพวงจากโควิด-19 ทำให้สภาพแวดล้อมทั้งในการดำเนินชีวิต รวมถึงการทำงาน การประกอบธุรกิจต่างๆ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป อย่างไรก็ดี ท่ามกลางอุปสรรคเรามักจะเห็นการปรับตัว และเห็นโอกาสเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ ดังเช่นการพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ๆ ในโลกโซเชียลอย่าง “Clubhouse” ที่ตอบโจทย์การติดต่อสื่อสารเข้ากับยุคที่ต้องเว้นระยะห่างอย่างเหมาะเจาะ และยังช่วยเพิ่มช่องทางเพื่อพัฒนาต่อยอดให้กับการทำธุรกิจได้อีกช่องทางหนึ่ง

เช่นเดียวกับการปรับตัวของผู้ประกอบการ SMEs ไทย แม้ในปี 2563 ที่ผ่านมาจะเจอพิษโควิด-19 แต่การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมก็ยังคง Move On หรือไปต่อได้ โดย “กองพัฒนาผู้ประกอบการไทย” สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ รายงานมูลค่าชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยรายเล็กกับบริษัททั้งรายใหญ่และรายเล็กตลอดปีที่ผ่านมาว่า มีจำนวนทั้งสิ้น27,440 ล้านบาท แบ่งเป็นการเชื่อมโยงกับผู้ซื้อรายใหญ่ 16,056 ล้านบาท และกับผู้ซื้อ SMEs 11,384 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่ามูลค่าที่เกิดขึ้นจะไม่มากเท่ากับสถานการณ์ปกติ แต่ต้องถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ชี้ให้เห็นว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยสามารถปรับตัวขยายการลงทุนเชื่อมโยงกับผู้ซื้อที่ส่วนใหญ่ถูกปูฐานอย่างแข็งแกร่งอยู่ก่อนแล้ว โดยเห็นได้จากอุตสาหกรรมที่เกิดการเชื่อมโยงส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลัก

ต้องถือว่า บีโอไอมีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศได้มีโอกาสเชื่อมโยงกับผู้ซื้อซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่จากทั่วโลกมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2535 ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดให้ผู้ซื้อพบผู้ขาย การมีตลาดกลางซื้อขายชิ้นส่วน การจับคู่ธุรกิจ การจัดสัมมนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs ไทย รวมถึงการนำผู้ประกอบการออกบูธงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการจัดงาน SUBCON Thailand ซึ่งเป็นงานนิทรรศการอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตที่สำคัญระดับภูมิภาคโดยจัดเป็นประจำทุกปี กิจกรรมเหล่านี้ได้สร้างโอกาสทางการตลาดให้ SMEs ผลิตชิ้นส่วนป้อนผู้ประกอบการรายใหญ่ปีละหลายหมื่นล้านบาท

ผลลัพธ์ของการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมทำให้เกิด Win-Win Situation ทั้งด้านผู้ขาย กล่าวคือ เกิดการยกระดับการผลิตชิ้นส่วนของ SMEs ไทย เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และสร้างให้ประเทศเป็นฐานซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง ส่วนในด้านผู้ซื้อรายใหญ่ ก็ได้ประโยชน์ในด้านช่วยลดต้นทุนโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนทุกสายการผลิต เพราะสามารถหาซัพพลายเออร์ผลิตชิ้นงานได้ในประเทศ เกิดข้อได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจเพราะใช้เงินลงทุนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีซัพพลายเชนไม่แข็งแกร่ง

แนวโน้มต่อจากนี้ การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมของบีโอไอจะขยายไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ 4.0 เช่น อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ยานยนต์ไฟฟ้า อากาศยาน ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ดิจิทัล สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ระบบราง เป็นต้น ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบไทยมีศักยภาพที่จะทำได้อยู่แล้ว เพื่อต่อยอดความแข็งแกร่งของซัพพลายเชนไทยในสาขาใหม่ๆ เหล่านี้ หวังเดินตามรอยความสำเร็จของการเชื่อมโยงในกลุ่มยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ เช่นที่ผ่านมา ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การมีผู้รับช่วงการผลิตในประเทศที่มีศักยภาพ มีส่วนช่วยสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุน นอกเหนือจากปัจจัยดึงดูดในด้านสิทธิและประโยชน์ต่างๆ

ขออภัยครับ ไม่มีข้อมูลส่วนนี้ ในภาษาที่ท่านเลือก !

Sorry, There is no information support your selected language !

Download และ ติดตั้งโปรแกรมอ่าน PDF

Download PDF Reader

Site map