Chat
x
toggle menu
toggle menu

Not Found

รายละเอียดสมาร์ทวีซ่า

ประเทศไทยได้มุ่งเน้นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจการฐานความรู้ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม รัฐบาลไทยได้เพิ่มมาตรการเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะและเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาทำงานและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายหรืออุตสาหกรรมที่เรียกว่า S-Curve สมาร์ทวีซ่า (SMART Visa) จึงได้รับการออกแบบขึ้นมาเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้บริหารระดับสูง นักลงทุน และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น

สมาร์ทวีซ่า คืออะไร

สมาร์ทวีซ่า (SMART Visa) คือ วีซ่าประเภทพิเศษที่กำหนดขึ้นมาเพื่อดึงดูด บุคลากรทักษะสูงและนักลงทุนที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานหรือลงทุนใน 10 S-Curve หรืออุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งได้แก่

  1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive)
  2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics)
  3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism)
  4. อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology)
  5. อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Food for the Future)
  6. อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Automation and Robotics)
  7. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)
  8. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals)
  9. อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital)
  10. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
  11. การบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution)
  12. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  13. การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทน 

ประเภท

รหัสกำกับ

วัตถุประสงค์/กิจกรรม





SMART

T

ผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง (Talents / Highly-skilled Experts)

I

นักลงทุน (Investors)

E

ผู้บริหารระดับสูง (Senior Executives

S

ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup entrepreneurs)

O

คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ได้รับสิทธิ SMART Visa

หลักเกณฑ์และคุณสมบัติ

1. SMART "T" สำหรับผู้เชี่ยวชาญทักษะสูง (Talent) ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้ามาทำงานในกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

1.1 กรณีทั่วไป


คุณสมบัติ

สิทธิและประโยชน์ที่ได้รับ

1. มีเงินได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 100,000 บาท/เดือน หรือเทียบเท่า แต่ในกรณีที่เป็นบุคคลซึ่งมีสัญญาจ้างโดยวิสาหกิจเริ่มต้น หรือผู้เชี่ยวชาญที่เกษียณอายุแล้วซึ่งได้รับการรับรองโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีเงินได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 50,000 บาท/เดือน 

2. มีสัญญาจ้างหรือสัญญาบริการกับกิจการในไทยหรือกิจการในต่างประเทศ ซึ่งกำหนดให้ทำงานในประเทศไทย ซึ่งมีระยะเวลาเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 1 ปี

3. ต้องได้รับการรับรองความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยหน่วยงานในเครือข่ายของศูนย์บุคลากรทักษะสูง (Strategic Talent Center : STC)*

4. กิจการที่ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจะต้องได้รับการรับรองว่าอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศไทย โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล 

5. ต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้าประเทศตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และไม่มีประวัติอาชญากรรม ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้ตรวจสอบ 

1. ได้รับ Smart "T" โดยมีระยะเวลาไม่เกินระยะเวลาตามสัญญาจ้าง/สัญญาบริการ แต่สูงสุดครั้งละไม่เกิน 4 ปี และสามารถขยายให้ครั้งละไม่เกิน 4 ปี

2.ไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงานสำหรับการทำงานในกิจการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้หลักเกณฑ์คุณสมบัติของวีซ่าประเภท Smart "T" และ ในกรณีที่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม จะต้องขอรับรองเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

3. รายงานตัวทุก 1 ปี (จากเดิมทุก 90 วัน) โดยสามารถใช้บริการที่ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานได้

4. สามารถเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (Re-entry permit) 

5. คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย จะได้รับสิทธิในการพำนักในประเทศไทย และการทำงานได้โดยมีระยะเวลาเท่ากับผู้ที่ได้รับสิทธิหลัก ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการทำงานต้องห้าม ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายจะทำงานได้นั้นจะต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน  พ.ศ. 2541

6.ได้รับสิทธิ์ให้ใช้ช่องทางพิเศษ (Fast Track) ในการเข้าออกราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศที่มีให้บริการช่องทางพิเศษ 

* หน่วยงานเครือข่ายของ STC ที่รับรองคุณสมบัติผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบัน ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) อย่างไรก็ตาม อาจมีหน่วยงานเพิ่มเติมได้ในอนาคต


1.2 กรณีผู้เชี่ยวชาญซึ่งปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันการฝึกอบรมเฉพาะทาง หรือบุคคลที่ให้บริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution) ในประเทศ

คุณสมบัติ

สิทธิและประโยชน์ที่ได้รับ

1. เป็นผู้เชี่ยวชาญซึ่งปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันการฝึกอบรมเฉพาะทาง หรือเป็นบุคคลที่เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการบริการด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution) ได้แก่ อนุญาโตตุลาการ ผู้ว่าต่างแก้ต่างในชั้นอนุญาโตตุลาการ และผู้สนับสนุนงานของคณะอนุญาโตตุลาการ

2.   มีสัญญาจ้างหรือสัญญาบริการ หรือหลักฐานแสดงความร่วมมือหรือการทำงานกับหน่วยงานของรัฐ สถาบันอุดมศึกษา สถาบันการฝึกอบรมเฉพาะทางหรือสถาบันอนุญาโตตุลาการในประเทศ เช่น สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center) ซึ่งกำหนดให้ทำงานในประเทศไทย

3.    กรณีเป็นผู้เชี่ยวชาญซึ่งปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ต้องได้รับการรับรองความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้ว่าจ้างหรือใช้ผู้เชี่ยวชาญ

4.   กรณีเป็นผู้เชี่ยวชาญซึ่งปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษา และสถาบันการฝึกอบรมเฉพาะทางของภาคเอกชน ต้องได้รับการรับรองความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยหน่วยงานในเครือข่ายของศูนย์บุคลากรทักษะสูง (Strategic Talent Center: STC)

5.  กรณีเป็นบุคลากรด้านการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution) ต้องได้รับการรับรองโดยสถาบันอนุญาโตตุลาการในประเทศว่าเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องและเข้ามาเพื่อให้บริการระงับข้อพิพาททางเลือก ณ สถาบันนั้นๆ

6.   ต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้าประเทศตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และไม่มีประวัติอาชญากรรม ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้ตรวจสอบ 

1.  ได้รับ Smart T” โดยมีระยะเวลาไม่เกินระยะเวลาตามสัญญาจ้าง/สัญญาบริการ แต่สูงสุดครั้งละไม่เกิน 4 ปี และสามารถขยายให้ครั้งละไม่เกิน 4 ปี

2. ไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงานสำหรับการทำงานในกิจการหรือหน่วยงานของรัฐที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้หลักเกณฑ์คุณสมบัติของวีซ่าประเภท Smart T” และ ในกรณีที่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม จะต้องขอรับรองเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

3. รายงานตัวทุก 1 ปี (จากเดิมทุก 90 วัน) โดยสามารถใช้บริการที่ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานได้

4. สามารถเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (Re-entry permit)

5.  คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย จะได้รับสิทธิในการพำนักในประเทศไทย และการทำงานได้โดยมีระยะเวลาเท่ากับผู้ที่ได้รับสิทธิหลัก ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการทำงานต้องห้าม ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายจะทำงานได้นั้นจะต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน  พ.ศ. 2541

6. ได้รับสิทธิ์ให้ใช้ช่องทางพิเศษ (Fast Track) ในการเข้าออกราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศที่มีให้บริการช่องทางพิเศษ 


2. SMART "I" สำหรับนักลงทุน (Investor) ต่างชาติที่ลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีและอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศไทย

คุณสมบัติ

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

1.  เงินลงทุนขั้นต่ำ ในกรณีใดกรณีหนึ่งต่อไปนี้

1.1 ลงทุนไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาทในนามบุคคลในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ  หรือในบริษัทเงินร่วมลงทุน (Venture Capital Company) ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ

1.2 ลงทุนโดยตรงในนามบุคคลไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาทในวิสาหกิจเริ่มต้นหรือโครงการบ่มเพาะ (Incubation) หรือโครงการเร่งการเติบโต (Accelerator) ซึ่งได้รับการรับรองโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

     ทั้งนี้ สามารถลงทุนได้มากกว่า 1 กิจการและต้องคงการลงทุนดังกล่าวไว้ในวงเงินข้างต้นตลอดระยะเวลาที่ถือ Smart Visa

2.  กิจการที่จะจัดตั้งขึ้นหรือรับการลงทุนจะต้องได้รับการรับรองโดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ว่าเป็นกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการและเป็นธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

3. กรณีการลงทุนผ่านบริษัทเงินร่วมลงทุน (Venture Capital Company) จะต้องได้รับการรับรองโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติและสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ว่าเป็นบริษัทเงินร่วมลงทุนที่ได้รับการร่วมลงทุนจากภาครัฐหรือมีการลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

4. ต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้าประเทศตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และไม่มีประวัติอาชญากรรมตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้ตรวจสอบ

1.  ได้รับ Smart I” โดยมีระยะเวลาครั้งละไม่เกิน 4 ปี และสามารถขยายให้ครั้งละไม่เกิน 4 ปี

2.  ไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงานสำหรับการทำงานในกิจการที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้หลักเกณฑ์คุณสมบัติของวีซ่าประเภท Smart I” และ ในกรณีที่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม จะต้องขอรับรองเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

3.   รายงานตัวทุก 1 ปี (จากเดิมทุก 90 วัน) โดยสามารถใช้บริการที่ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานได้

4.  สามารถเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (Re-entry permit)

5. คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย จะได้รับสิทธิในการพำนักในประเทศไทยเช่นเดียวกับผู้ได้รับสิทธิหลัก

     นอกจากนี้ คู่สมรสจะทำงานได้โดยมีระยะเวลาเท่ากับผู้ที่ได้รับสิทธิหลัก ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการทำงานต้องห้าม ตามการกำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดในอาชีพและวีชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522

6.   ได้รับสิทธิ์ให้ใช้ช่องทางพิเศษ (Fast Track)  ในการเข้าออกราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศที่มีให้บริการช่องทางพิเศษ 

3. SMART “E” สำหรับผู้บริหารระดับสูง (Executive) ที่ทำงานในกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศไทย

คุณสมบัติ

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

1.  เงินได้เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 200,000 บาท/ เดือน หรือเทียบเท่า

2. คุณวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปหรือเทียบเท่า และมีประสบการณ์ทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 10 ปี

3.  มีสัญญาจ้างงานกับกิจการในไทยหรือมีสัญญาจ้างงานกับกิจการในต่างประเทศ ซึ่งกำหนดให้ทำงานในประเทศไทย
ทั้งนี้ สัญญาการจ้างงานดังกล่าวต้องมีระยะเวลาเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 1 ปี

4.  ทำงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง เช่น ประธาน กรรมการผู้จัดการ

5.  กิจการในประเทศไทยที่ว่าจ้างจะต้องได้รับการรับรองว่าเป็นกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ และเป็นธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

6.  ต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้าประเทศตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และไม่มีประวัติอาชญากรรม ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้ตรวจสอบ

1. ได้รับ Smart E” โดยมีระยะเวลาไม่เกินระยะเวลาตามสัญญาจ้าง แต่สูงสุดครั้งละไม่เกิน 4 ปี และสามารถขยายให้ครั้งละไม่เกิน 4 ปี

2. ไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงานสำหรับการทำงานในตำแหน่งและกิจการที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้หลักเกณฑ์คุณสมบัติของวีซ่าประเภท Smart E” และ ในกรณีที่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม จะต้องขอรับรองเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

3. รายงานตัวทุก 1 ปี (จากเดิมทุก 90 วัน) โดยสามารถใช้บริการที่ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานได้

4.  สามารถเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (Re-entry permit)

5.  คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย จะได้รับสิทธิในการพำนักในประเทศไทยเช่นเดียวกับผู้ได้รับสิทธิหลัก

   นอกจากนี้ คู่สมรสจะทำงานได้โดยมีระยะเวลาเท่ากับผู้ที่ได้รับสิทธิหลัก ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการทำงานต้องห้าม ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

6. ได้รับสิทธิ์ให้ใช้ช่องทางพิเศษ (Fast Track) ในการเข้าออกราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศที่มีให้บริการช่องทางพิเศษ

4. SMART “S” สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่ใช้เทคโนโลยีและอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศไทย

4.1 กรณีได้รับอนุญาตมีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี 

คุณสมบัติ

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

1. ได้จัดตั้งกิจการในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองว่าเป็นธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

2. ผู้ขอจะต้องมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน หรือเป็นกรรมการของบริษัทได้จัดตั้งและได้รับการรับรองในข้างต้น

3. ผู้ขอต้องมีเงินฝากในบัญชีในประเทศไทยหรือในประเทศที่ตนมีสัญชาติหรือมีถิ่นพำนัก ไม่น้อยกว่า 600,000 บาท หรือเทียบเท่า ซึ่งถือครองมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน

4.  กรณีมีคู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย จะต้องมีเงินฝากในบัญชีในประเทศหรือในประเทศที่ตนมีสัญชาติหรือมีถิ่นพำนัก เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 180,000 บาท หรือเทียบเท่าต่อคน ซึ่งถือครองมาแล้วไม่น้อยกว่า
3 เดือน

5.  มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพคุ้มครองตลอดระยะเวลาที่พำนักในประเทศไทย ทั้งสำหรับผู้ยื่นขอ Smart Visa
คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

6. ต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้าประเทศตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และไม่มีประวัติอาชญากรรม ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้ตรวจสอบ

1. ได้รับ Smart S” มีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ทั้งนี้ สามารถขยายให้ครั้งละไม่เกิน 2 ปี

2. ไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน สำหรับการทำงานในโครงการหรือกิจการที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้หลักเกณฑ์คุณสมบัติของวีซ่าประเภท Smart S” และในกรณีที่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม จะต้องขอรับรองเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

3.  รายงานตัวทุก 1 ปี (จากเดิมทุก 90 วัน) โดยสามารถใช้บริการที่ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานได้

4.  สามารถเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (Re-entry permit)

5. คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย จะได้รับสิทธิในการพำนักในประเทศไทยเช่นเดียวกับผู้ได้รับสิทธิหลัก

     นอกจากนี้ คู่สมรสจะทำงานได้โดยมีระยะเวลาเท่ากับผู้ที่ได้รับสิทธิหลัก ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการทำงานต้องห้าม ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

6. ได้รับสิทธิ์ให้ใช้ช่องทางพิเศษ (Fast Track) ในการเข้าออกราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศที่มีให้บริการช่องทางพิเศษ

4.2 กรณีได้รับอนุญาตมีระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 

คุณสมบัติ

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

1.   ผู้ขอต้องเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะ (Incubation) หรือโครงการเร่งการเติบโต (Accelerator) หรือโครงการอื่นในลักษณะเดียวกันซึ่งได้รับการรับรองโดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวต้องอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

2.  ในกรณีที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะ ผู้ขอต้องได้รับการร่วมลงทุนจากภาครัฐ หรือได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

3.  ผู้ขอต้องมีเงินฝากในบัญชีในประเทศไทยหรือในประเทศที่ตนมีสัญชาติหรือมีถิ่นพำนัก ไม่น้อยกว่า 600,000 บาท หรือเทียบเท่า ซึ่งถือครองมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน

4.  กรณีมีคู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย จะต้องมีเงินฝากในบัญชีในประเทศหรือในประเทศที่ตนมีสัญชาติหรือมีถิ่นพำนัก เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 180,000 บาท หรือเทียบเท่าต่อคน ซึ่งถือครองมาแล้วไม่น้อยกว่า
3 เดือน

5.   มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพคุ้มครองตลอดระยะเวลาที่พำนักในประเทศไทย ทั้งสำหรับผู้ยื่นขอ Smart Visa
คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

6.   ผู้ขอจะต้องจัดตั้งกิจการในประเทศไทยภายใน 1 ปี หลังจากวันที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ชั่วคราวในราชอาณาจักร โดยจะต้องมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน หรือเป็นกรรมการของบริษัทและต้องได้รับการรับรองว่าเป็นธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

7. ต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้าประเทศตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และไม่มีประวัติอาชญากรรม ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้ตรวจสอบ

1.  ได้รับ Smart S” ครั้งแรก มีระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี กรณีที่ยังไม่ได้จัดตั้งบริษัท ทั้งนี้ สามารถขยายให้ครั้งละไม่เกิน 2 ปี เมื่อได้จัดตั้งธุรกิจที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประเทศไทยแล้ว

2.   ไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน สำหรับการทำงานในโครงการหรือกิจการที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้หลักเกณฑ์คุณสมบัติของวีซ่าประเภท Smart S” และในกรณีที่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม จะต้องขอรับรองเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

3.  รายงานตัวทุก 1 ปี (จากเดิมทุก 90 วัน) โดยสามารถใช้บริการที่ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานได้

4.  สามารถเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (Re-entry permit)

5.   คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย จะได้รับสิทธิในการพำนักในประเทศไทยเช่นเดียวกับผู้ได้รับสิทธิหลัก

นอกจากนี้ คู่สมรสจะทำงานได้โดยมีระยะเวลาเท่ากับผู้ที่ได้รับสิทธิหลัก ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการทำงานต้องห้าม ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

6. ได้รับสิทธิ์ให้ใช้ช่องทางพิเศษ (Fast Track) ในการเข้าออกราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศที่มีให้บริการช่องทางพิเศษ

4.3 กรณีได้รับอนุญาตมีระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน 

คุณสมบัติ

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

1. มีแผนการจัดตั้งวิสาหกิจเริ่มต้นซึ่งใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งจะต้องได้รับการรับรองโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นในลักษณะ Startup Camp ที่รับรองโดยหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

2. มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพคุ้มครองตลอดระยะเวลาที่พำนักในประเทศไทย

3.  ต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้าประเทศตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และไม่มีประวัติอาชญากรรม ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้ตรวจสอบ

1. ได้รับ Smart S” โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน และสามารถขยายให้ครั้งละไม่เกิน 2 ปี เมื่อได้จัดตั้งธุรกิจที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประเทศไทยแล้ว

2. ไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน สำหรับการทำงานเพื่อจัดตั้งวิสาหกิจเริ่มต้นในประเทศไทยหรือเข้าร่วมกิจกรรมหรือโครงการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นที่เป็นไปตามเกณฑ์ และในกรณีที่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติม จะต้องขอรับรองเพิ่มเติมตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

3. รายงานตัวทุก 1 ปี (จากเดิมทุก 90 วัน) โดยสามารถใช้บริการที่ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงานได้

4.  สามารถเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (Re-entry permit)

5. ได้รับสิทธิ์ให้ใช้ช่องทางพิเศษ (Fast Track) ในการเข้าออกราชอาณาจักร ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศที่มีให้บริการช่องทางพิเศษ

ขั้นตอนการยื่นขอสมาร์ทวีซ่า

ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่นอกราชอาณาจักรสามารถยื่นขอวีซ่าประเภท SMART Visa ได้ และชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทยก็สามารถขอเปลี่ยนประเภทวีซ่าเป็น SMART Visa หากมีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์

ผู้ยื่นขอสมาร์ทวีซ่าต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจะต้องได้รับการรับรองคุณสมบัติโดยหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมาย เช่น ต้องได้รับการรับรองความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเภทของการรับรอง / หน่วยงานที่รับรอง มีรายละเอียด ดังนี้

กรณีที่ได้รับการรับรองผ่านเกณฑ์คุณสมบัติแล้ว หน่วย SMART Visa (ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) จะดำเนินการตรวจสอบข้อกำหนดอื่นๆ ก่อนที่จะออกหนังสือรับรองคุณสมบัติที่ผู้ยื่นขอสมาร์ทวีซ่าจะใช้ในการขอประทับตราตรวจลงตรา SMART Visa ที่สถานเอกอัครราชทูต/ สถานกงสุลใหญ่ (กรณีอยู่ต่างประเทศ) หรือที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน อาคารจัตุรัสจามจุรี)

ขั้นตอนการยื่นขอรับรองคุณสมบัติประกอบการขอ SMART Visa

1. ชาวต่างชาติยื่นขอรับรองการเป็นผู้มีสิทธิได้รับ SMART Visa ณ ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (One Stop Service Center for Visa and Work Permit: OSS) อาคารจัตุรัสจามจุรี หรือสถานเอกอัครราชทูต/ สถานกงสุลใหญ

2. ภายใน 3 วันทำการหลังจากได้รับเอกสารหลักฐานครบถ้วน OSS จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบและรับรองคุณสมบัติของผู้ที่ยื่นขอ SMART Visa

3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อ 2 แจ้งผลการพิจารณา/ ตรวจสอบให้ OSS ภายใน 20 วันทำการ

4. OSS (BOI) จะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ที่ยื่นขอ SMART Visa หน่วยงานรับรองคุณสมบัติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ และกรมการจัดหางาน ทราบถึงผลของการรับรองคุณสมบัติภายใน 7 วันทำการ

ทั้งนี้ กรอบระยะเวลาการทำงานรวมทั้งสิ้น 30 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ OSS ได้รับเอกสารหลักฐานฉบับสมบูรณ์ สำหรับผู้ที่ถือวีซ่าประเภทอื่นจะต้องยื่นขอรับการรับรองคุณสมบัติล่วงหน้าอย่างน้อย 90 วันก่อนระยะเวลาเดิมสิ้นสุด

การขอประทับตราวีซ่า

ผู้ที่ได้รับการรับรองผ่านเกณฑ์คุณสมบัติแล้วสามารถยื่นขอประทับตราตรวจลงตรา SMART Visa ได้ที่สถานเอกอัครราชทูต/ สถานกงสุลใหญ่ ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ออกหนังสือรับรองผ่านเกณฑ์คุณสมบัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หากผู้ยื่นขอประทับตราวีซ่าพำนักอยู่ในประเทศ ไทยสามารถยื่นขอวีซ่าประเภท SMART Visa ได้ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (One Stop Service Center for Visa and Work Permit: OSS) อาคารจัตุรัสจามจุรี

การขอขยายระยะเวลาการอยู่ต่อภายในราชอาณาจักร

ผู้ได้รับสิทธิ SMART Visa อยู่แล้ว ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการอยู่ต่อภายในราชอาณาจักร ก่อนระยะเวลาเดิมสิ้นสุด 90 วัน


การรายงานข้อมูล

ผู้ถือ SMART Visa ต้องยื่นเอกสารหลักฐานแสดงสถานภาพและข้อมูลที่เป็นปัจจุบันทุกๆปี หลังจากวันที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ชั่วคราวในราชอาณาจักร ณ หน่วย SMART Visa ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (One Stop Service Center for Visa and Work Permit: OSS) อาคารจัตุรัสจามจุรี

สอบถามและรับบริการ

หน่วย SMART Visa

ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน

(One Stop Service Center for Visa and Work Permit: OSS)

อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้นที่ 18

เลขที่ 319 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน

เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

โทร. 0 2209 1100 ต่อ 1109 – 1110

โทรสาร 0 209 1199

Email: smartvisa@boi.go.th


ขออภัยครับ ไม่มีข้อมูลส่วนนี้ ในภาษาที่ท่านเลือก !

Sorry, There is no information support your selected language !

Download และ ติดตั้งโปรแกรมอ่าน PDF

Download PDF Reader

Site map